หากมติของ 7 พรรคการเมืองเลือก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากปีกของพรรคพลังประชารัฐ

การประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิถุนายนจะทวีความเข้มข้นและร้อนแรงเป็นอย่างสูง

ไม่ว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะอยู่ในที่ประชุมหรือไม่ก็ตาม

เพราะหากว่าคุณสมบัติของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตั้งข้อสงสัยจากปีกของพรรคพลังประชารัฐ คุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะถูกตั้งข้อสงสัยได้เช่นเดียวกัน

ในที่สุดการเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะถูกแปรเป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

เริ่มตั้งแต่สถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

เพียงเห็นข้อคาดหมายจาก นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ประสานเข้ากับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

ก็จะสัมผัสได้ในความเข้มข้นของการประชุมในวันที่ 5 มิถุนายนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ไม่เพียงแต่จะมีการตรวจสอบความเหมาะสมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น หากยังจะนำไปสู่การตรวจสอบในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของ 250 ส.ว.อีกด้วย

“ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งหากโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นใครก็ไม่มีปัญหา เพราะมาตรา 272 กำหนดให้ทำได้

แต่การโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจะมีปัญหาทันทีเพราะมาตรา 114 วางหลักการเอาไว้ห้ามส.ส.หรือส.ว.ไปมีผลประโยชน์ขัดกัน”

โดยเฉพาะส.ว.ที่แต่งตั้งมากับมือโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่คิดว่าการประชุมรัฐสภาที่มี 250 ส.ว.เข้าร่วมจะทำให้แผนที่กำหนดโดยคสช.ผ่านรัฐธรรมนูญ เดินหน้าโดยราบรื่นอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้

เพราะนี่เท่ากับเป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

เพราะสถานการณ์ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตกเป็นเป้าหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มากมายหลายเท่า

การประชุมรัฐสภาวันที่ 5 มิถุนายนจึงร้อนแรงโดยอัตโนมัติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน