ตัวเลข 61 ต่อ 16 ที่เห็นชอบเป็น “มติ”ให้พรรคประชาธิปัตย์โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ

น่าศึกษาอย่างเป็นพิเศษ

เพราะนี่เป็นมติอันมาจากการประชุมร่วมโดยกรรมการบริหารพรรคและส.ส.จำนวนทั้งสิ้น 80 คนจากทั้งหมด 81 งดออกเสียง 2 บัตรเสีย 1

โดย 1 คนที่ไม่ได้เข้าประชุมคือ นายชวน หลีกภัย ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภา

สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่ากรรมการบริหาร ไม่ว่าส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ล้วนต้องการในการเข้าร่วมรัฐบาล

และพร้อมชูมือให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากถือเอาบรรทัดฐานจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค 2 ครั้งทั้งในห้วงที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชนะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และทั้งในห้วงที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ชนะ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าตัวตนอันแท้จริงภายในพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอย่างไร

เพียงแต่รอจังหวะเวลาอันเหมาะสมสำแดงออกเท่านั้นเอง

ดังนั้น คำประกาศของ นายอิสระ สมชัย ที่พร้อมจะนำ 29 ส.ส.ไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนการลงมติในที่ประชุม

จึงมิได้คำขู่อันเลื่อนลอย ว่างโหวง หากแต่มีความเป็นจริงของ 61 เสียงรองรับอย่างหนักแน่นและจริงจัง

ขณะที่มีเพียง 16 เสียงเท่านั้นเองที่ยังยืนหยัดบนหลักการอัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยประกาศเป็นความชัดเจนก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม

สะท้อนให้เห็นว่าความโน้มเอียงของพรรคประชาธิปัตย์เป็นเช่นใดในกระบวนการทางเมืองตลอดกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

หากมองตามความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ภายในพรรคประชาธิปัตย์จึงน่าเห็นใจ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นอย่างยิ่ง

การเลือกเข้าร่วมกับ “ประชาธิปไตยวิปริต”จึงกลายเป็นทางเลือก

ด้วยความหวังว่าจะ “ปิดสวิตช์คสช.” ปิดสวิตช์มาตรา 44

ด้วยความหวังที่จะก้าวไปยัง “ประชาธิปไตยสุจริต”ที่มุ่งหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน