คอลัมน์ รายงานพิเศษ

กรณีร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นอีกครั้ง

หลังที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ขอคำชี้แจงจากคณะ ผู้แทนไทย นำโดย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ระหว่างรายงานการปฏิบัติการพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทาง การเมือง หรือไอซีซีพีอาร์ ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

ร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติตีกลับเมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยอ้างเหตุผลยังไม่ผ่านการรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ซึ่งอาจขัดบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 77

กระทั่งมีความเคลื่อนไหวจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิ มนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งแสดงความกังวลต่อความล่าช้าใน การผลักดัน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ก็ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังที่สนช.ชะลอ การพิจารณา

ร่างกฎหมายฉบับนี้จัดทำโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ยกร่างเสร็จปลายปี 2557 จากนั้นมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีความคืบหน้าอีก

กระทั่งครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2559 รวมถึงเห็นชอบการเตรียมเข้าร่วมภาคีเครือข่ายและให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย

จากที่ประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายกำหนดความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะกับกรณีการทรมานและการอุ้มหาย มีเพียงบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยว และฐานความผิดข้างเคียง

เมื่อรัฐบาลผ่านร่างพ.ร.บ.นี้ จึงมีเสี่ยงชื่นชมจากกลุ่มและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากสาระสำคัญได้กำหนดโทษแก่บุคคลและเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทรมาน หรืออุ้มหาย โดยให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย

แม้ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือภาวะสงคราม ก็ไม่สามารถบังคับให้บุคคลใดสูญหายได้

อีกทั้งการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ อุ้มหาย จะมีอายุความถึง 20 ปี

พร้อมทั้งมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเสรีภาพ กรณีบุคคลที่ถูกจำกัดสิทธิ์ จะต้องติดต่อญาติหรือทนายความได้ตลอดเวลา และยังต้องแจ้งสถานที่คุมขังให้ญาติรับทราบด้วย

ร่างกฎหมายยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการป้องกันการสูญหายเข้ามากำกับดูแล โดยมีรมว.ยุติธรรมเป็นประธาน ทำหน้าที่กำกับการสืบสวนสอบสวนด้วย

แม้ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและมีการปรับแก้ไขร่างเดิมในหลายประเด็น แต่นักสิทธิมนุษยชนก็ยังมองว่า ร่างพ.ร.บ.นี้จะช่วยอุดช่องว่างสำคัญในกรอบกฎหมายของไทยในหลายๆ ด้าน และยังช่วยให้ไทยปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ดีขึ้น

แม้ยังขาดองค์ประกอบสำคัญของนิยามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ไม่กำหนดฐานความผิดสำหรับการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และไม่นิยามว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอีกหลายประเด็นที่นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง

แต่ก็ยังมีความหวังที่จะไปแก้ไขในชั้น สนช. หากแต่สนช.ได้ตีกลับกฎหมายนี้ไปยังกระทรวงยุติธรรม

เมื่อวันนี้เกิดข้อสงสัยถึงความล่าช้าในการผลักดันกฎหมาย ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไทยบ้างนั้น มีความเห็นในมุมของนักสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)

สมชาย หอมลออ

นักสิทธิมนุษยชน

การที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ เป็นอีกก้าวหนึ่งและเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาคือเมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีแล้ว แต่หากยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการ ก็คือร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มาบังคับใช้ เท่ากับว่าการเข้าร่วมเป็นภาคีดังกล่าวก็ยังไม่มีผลทางปฏิบัติ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากตัวแทนหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งภาคประชาสังคม ร่วมกันพิจารณาโดยใช้เวลานานเป็นปี ที่สำคัญได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว

นอกจากนี้ยังผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่หลายครั้ง ทั้งที่จัดโดยกระทรวงยุติธรรม กลุ่มเอ็นจีโอ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือ กสม.

ดังนั้นการที่ สนช.ตีกลับกฎหมายนี้กลับไปยังกระทรวงยุติธรรม โดยอ้างว่ายังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญที่ยังไม่มีผลบังคับใช้นั้นดู ไม่น่าจะใช่เหตุผลที่แท้จริง ดังนั้นอยากให้ สนช.ชี้แจงเหตุผลที่แท้จริงว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่

เรื่องการทรมานหรืออุ้มหายยังเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย ขณะที่นานาชาติจับตาดูเราอย่างมาก เรื่องนี้ และเมื่อยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ ทำให้เราไม่สามารถจัดการและเข้าใจปัญหานี้ได้

ซึ่งตามพันธะสัญญา กฎหมายฉบับนี้นอกจากจะดูแลในเรื่องของการปราบปรามแล้วยังหมายรวมไปถึงการป้องกันด้วย ดังนั้นจะมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมในบ้านเราทั้งในสถานการณ์ปกติที่ผู้ต้องหา ไม่น้อยต้องกลายเป็นแพะ ต้องรับสารภาพเพราะถูกทรมาน และในสถานการณ์ไม่ปกติอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้

ดังนั้น ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยจะลดลง และท้ายที่สุดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยจะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในชั้นพนักงานซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนและบังคับใช้กฎหมาย หากเริ่มบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้เร็วเท่าไรก็จะเป็นผลดีต่อประชาชนและกระบวนการยุติธรรมของไทยมากเท่านั้น

การตีกลับกฎหมายเพราะหวังยื้อเวลาเพื่อช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ แต่ตามร่างกฎหมายระบุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบกับการกระทำความผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยในกรณีรู้เห็นเป็นใจหรือละเลย ก็อาจทำให้เกิดข่าวลือเรื่องดังกล่าวขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การที่ยูเอ็นทวงถามกฎหมายนี้อาจไม่มีผลกับการจัดเกรดของ กสม. เพราะกฎหมายฉบับนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับ กสม.โดยตรง การปฏิบัติเป็นเรื่องของรัฐบาล กสม.มีหน้าที่ตรวจสอบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตามพันธกรณีแล้วหรือไม่

หาก กสม.ไม่ตรวจสอบอย่างจริงจังหรือเข้าข้างรัฐบาลโดยไม่มีเหตุก็จะสร้างความเสื่อมเสียให้กับ กสม.เอง ดังนั้นหวังว่า กสม.จะร่วมผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้มี ผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

อดีต กสม.

เข้าใจว่าการเสนอร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เนื่องจากขณะนี้ในประเทศไทยมีคดีเกี่ยวกับบุคคลสูญหายค่อนข้างมาก

ล่าสุดยูเอ็นทวงถามคดีนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่หายตัวไปเกือบ 13 ปีแล้ว และคดีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557

ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ ผู้ได้รับความเสียหายคือครอบครัวคนที่สูญหายเดือดร้อนขาดหัวหน้าครอบครัว ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่

นอกจากนี้ หากสนช.พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวล่าช้า ยังจะส่งผลกระทบ ต่อภาพพจน์ของประเทศในระดับสากล เพราะกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ หากล่าช้าในชั้นสนช. แน่นอนว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่น สิ่งที่ตามมาคือกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน

ส่วนเหตุผลที่สนช.ระบุว่า ต้องชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน เพราะยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นประชาชน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญใหม่นั้น เข้าใจว่าเมื่อกรมคุ้มครองสิทธิฯ เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คงได้สอบถามความเห็นประชาชนอยู่แล้ว

เพราะกรมคุ้มครองสิทธิฯ อยู่ในกระทรวงยุติธรรม ย่อมมีกระบวนการมีส่วนร่วม รับฟังความเห็นประชาชนและนักวิชาการมากพอสมควรก่อนที่จะเสนอเป็นร่างกฎหมาย เชื่อว่าเขาคงไม่พลาดกระบวนการมีส่วนร่วมเพราะเป็นกฎหมายที่มีผู้ได้รับผลกระทบเยอะ

ทำให้เท่าที่ทราบร่างกฎหมายดังกล่าวค่อนข้างสมบูรณ์ในกระบวนการเนื้อหา พอสมควร ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ ตามติดเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว

ส่วนที่ยูเอ็นทวงถามร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลต่อการลดเกรด กสม.หรือไม่นั้น กสม.ต้องถูกตรวจสอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุดไหนก็ต้องได้รับการตรวจสอบ เพื่อได้รับการประเมินผล

ยิ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิพลเมืองก็จะเป็นประเด็นสำคัญเพราะเป็น หลักการสากล ที่ผ่านมากดสม.ก็ถูกลดเกรดมาตั้งแต่ชุดแรกอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน