เส้นทางสาหัส รัฐบาล‘ประยุทธ์2’ : รายงาน

เส้นทางสาหัส – กรณีสมาชิกรัฐสภา ส.ส.และส.ว.โหวตลงมติ 500 เสียง ผลักดันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 สมัยที่สอง ของประเทศไทย อย่างราบรื่น

หากมองตัวเลขผิวเผิน ถือว่าฝ่ายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับชัยชนะงดงาม

ทำคะแนนทิ้งห่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตัวแทนจาก 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่ได้ 244 คะแนนเสียง กว่าเท่าตัว

แต่ถ้ามองลึกลงไปในตัวเลขชุดเดียวกัน ในฝั่งสืบทอดอำนาจ 500 เสียง ผ่านการแยกแยะสายพันธุ์ จะพบว่าเป็นส.ว.ที่คสช.แต่งตั้งเข้ามาเองกับมือ 249 เสียง

กับอีกส่วนหนึ่ง ส.ส.จาก 19 พรรคการเมือง ที่ตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐของคสช. 251 เสียง

ขณะที่ 244 คะแนนเสียงในฝั่ง 7 พรรคต่อต้านอำนาจคสช. ได้มาจากสมาชิกรัฐสภาที่เป็นส.ส.อย่างเดียว

ดังนั้น หากวัดจากเสียงเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎร สองฝ่ายการเมืองแตกต่างกันเพียงแค่ 7 เสียง

ด้วยเสียงก้ำกึ่งนี้ ทำให้บรรดานักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองหลายคนมองว่า ชัยชนะของฝ่ายสืบทอดอำนาจในการโหวตนายกฯ ครั้งนี้ เป็นชัยชนะที่มีความ“เปราะบาง” อย่างยิ่ง

ในอนาคตฝ่ายชนะโหวตนายกฯ ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ยังอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ มากมาย

หากมองย้อนไปถึงตัวเลขคะแนนดิบของแต่ละพรรค จากการเลือกตั้ง 24 มี.ค.จะเห็นว่า

คะแนน 7 พรรคที่ประกาศจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. มาตั้งแต่แรกเริ่ม นำโดยพรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่ รวมกันมากกว่าฝ่ายประกาศสนับสนุน คสช. ที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ เกือบเท่าตัว

เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการออกเสียงให้ “ใครบางคน”กลับมาเป็นนายกฯ อีกหรือไม่

โดยเฉพาะในการประชุมรัฐสภาวันที่ 5 มิ.ย. หากไม่ได้พรรค 250 ส.ว.มาเป็นตัวช่วยต่อรอง กดดันสองพรรคตัวแปรสำคัญอย่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย ก็ไม่แน่ว่าแผนสืบทอดอำนาจ

จะสำเร็จ หรือพังครืน

สิ่งสำคัญคือเสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านที่มีส่วนต่างห่างกันไม่ถึง 10 เสียง หรืออาจแค่ 4-5 เสียงด้วยซ้ำไป

เป็นเรื่องชวนให้สงสัย อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อถึงจังหวะรัฐบาลในวันที่นายกฯไม่มี “มาตรา 44” อยู่ในมือ แต่ต้องการผลักดันนโยบาย หรือร่าง กฎหมายสำคัญๆ อย่างเช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น

รวมถึงการต้องเผชิญหน้ากับญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ตามที่ได้โหมโรงซ้อมใหญ่ในสภากันมาแล้วในวันโหวตเลือกนายกฯ

หัวข้อปักหมุด อาทิ ประเด็นคุณสมบัตินายกฯ การปิดเหมืองทองคำอัครา การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี การอุ้มทีวีดิจิตอล การยืดหนี้ใบอนุญาต 4 จี

ไปจนถึงประเด็นค้างเก่า เช่น อุทยานราชภักดิ์ การให้ลูกหลานเปิดบริษัทรับประมูลงานก่อสร้างในค่ายทหาร การจัดซื้ออาวุธของกองทัพ นาฬิกาหรู การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม ฯลฯ

เหล่านี้ต้องถูกนำมาเช็กบิลย้อนหลัง

ความเป็นเอกภาพ 7 พรรคฝ่ายต่อต้าน คสช. จากการโหวตให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 244 เสียง

ถึงจะถูกยั่วยวนด้วยตัวเลขค่าตัว 120 ล้านบาท แต่กลับไม่มี“งูเห่า”แม้แต่เสียงเดียว

แม้แต่พรรคเศรษฐกิจใหม่ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ซึ่งเคยถูกหวาดระแวงมาตลอด ทั้ง 6 ส.ส.ก็เคลียร์ตัวเองได้หมดจด

ความเหนียวแน่นของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่ยึดมั่นในจุดยืนอุดมการณ์ ปฏิเสธการอ่อนข้อใดๆ ให้กับฝ่ายสืบทอดอำนาจ น่าจะสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ในอนาคต

ขณะที่พรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจ ถึงจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพผ่านส.ว. 249 เสียง และส.ส. 251 เสียง แต่ก็เป็นเอกภาพบนพื้นฐานการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งมีความอ่อนไหวอยู่มาก

กรณีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ที่โหวต“งดออกเสียง” สวนมติพรรคในการเลือกนายกฯ

ด้านหนึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากฝ่ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นส.ส.ที่กล้าหาญ

แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับฝ่ายสืบทอดอำนาจได้ไม่น้อย เป็นที่มาข่าวการตั้งกรรมการสอบสวนนายสิริพงศ์ ก่อนที่แกนนำพรรคภูมิใจไทยจะปฏิเสธ ไม่เป็นความจริง

ไม่รวมถึงสัญญาณความขัดแย้งภายในระหว่างพรรคแกนนำ กับพรรคร่วมที่เปิดเผยร่องรอยให้เห็น ตั้งแต่วันแรกหลังเสร็จสิ้นกระบวนการโหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

จากปัญหาการจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ทั้งรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ลงไปจนถึงตำแหน่งกรรมาธิการในสภาชุดต่างๆ

เมื่อมีข่าวแกนนำกลุ่มสามมิตรกดดันให้แกนนำพรรคพลังประชารัฐ “ล้มดีล” พรรคร่วม นำโควตาตำแหน่งต่างๆ มาเกลี่ยกันใหม่

เรียกร้องดึงกระทรวง “เกรดเอ” โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมและ กระทรวงเกษตรฯ กลับมาอยู่ในความดูแลของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลทั้งหมด

เปลี่ยนจากข้อตกลงเดิม กระทรวงคมนาคม-สาธารณสุข-การท่องเที่ยวและกีฬาเป็นของพรรคภูมิใจไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-พาณิชย์-การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่รวมประธานรัฐสภาของนายชวน หลีกภัย ที่ถือเป็นโบนัส

ตามไทม์ไลน์ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุ เมื่อนำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งลงมา

จึงจะเข้าสู่โหมดเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคแกนนำกับพรรคร่วม คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ได้รัฐบาลชุดใหม่หรือรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ได้ภายในไม่เกินสิ้นเดือนมิ.ย.

ซึ่งน่าจะสร้างความปวดหัวให้กับพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเป็นคนเคาะตำแหน่งต่างๆ ขั้นตอนสุดท้ายในฐานะผู้นำรัฐบาล มากพอสมควร

เพราะลำพังภายในพรรคพลังประชารัฐ ก็มีกลุ่มก้อนการเมืองกระจายตัวอยู่ตามซอกมุมต่างๆ แบมือรอรับผลตอบแทนหลังการเลือกตั้งจำนวนมาก

ไม่ว่ากลุ่มแกนนำ คสช. กลุ่ม 4 กุมาร กลุ่มสามมิตร กลุ่มอดีตกปปส. กลุ่มบ้านริมน้ำ กลุ่มโคราช กลุ่มชลบุรี กลุ่มเพชรบูรณ์ กลุ่มกำแพงเพชร กลุ่มภาคเหนือ

เท่านี้ก็แบ่งปันกันไม่ทั่วถึง จึงเป็นที่มาการทวงคืนเก้าอี้จากประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ที่เคยสัญญากันไว้ว่าจะให้ อาจไม่เป็นไปตามนั้น

ล่าสุดระหว่างที่โควตากระทรวงเศรษฐกิจยังฝุ่นตลบ ก็มีกระแสข่าว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล คสช. เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ

หลายคนเชื่อว่าถึงที่สุดเพื่อเห็นแก่ปัญหาปากท้อง

พรรคแกนนำกับพรรคร่วมจะสามารถตกลงแบ่งเค้กกันได้ลงตัว แล้วปล่อยให้กลุ่มการเมืองในพรรคเสียสละอดทน “กลืนเลือด” ไปตามระเบียบ

ปัญหาที่มาไม่ชอบธรรม สังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ปัญหาจากพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงข้อขัดแย้งภายในจากการจัดแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ลงตัว

เหล่านี้ล้วนเป็น“ระเบิดเวลา”รอทำงาน

เส้นทางรัฐบาล“ประยุทธ์ 2” ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน

รายงาน-9มิย.tif

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน