ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก – เมล์มาถามนะครับ วันก่อน น้าชาติเขียนถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นประธานสภาได้อย่างไร ท่านเป็นนักการศึกษาไม่ใช่หรือ ช่วยสืบค้นให้ด้วยครับ

แฟนประจำ

ตอบ แฟนประจำ

พบคำตอบในบทความเรื่อง “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกมีแนวคิดการเมืองอย่างไร” เว็บไซต์ www.silpa-mag.com ว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หรือที่เรียกขานกันว่า “ครูเทพ” เป็นนักการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงการศึกษา มีผลงานด้านการประพันธ์ผลงานในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ในรายชื่อผลงานราชการของท่าน ยังมีราชการพิเศษที่สำคัญในแวดวงการเมืองอยู่ด้วย นั่นคือการดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2475

ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก : รู้ไปโม้ด

ในช่วงโค้งสำคัญด้านการเมือง ภายหลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น 70 ราย หนึ่งในนั้นมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอยู่ด้วย การประชุมสภาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ที่ประชุมได้เลือกมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

แม้ว่าในการประชุมสภาวันที่ 2 กันยายน 2475 ที่ประชุมเลือก เจ้าพระยาพิชัยญาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแทนท่านที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ แต่หลังจากนั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้กลับเข้ามาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีเดียวกัน จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2476 ก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง

หากกล่าวถึงเส้นทางราชการ ท่านทำงานอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยจากยุคศักดินาไปถึงยุคปฏิกิริยากฎุมพีซึ่งกลุ่มขุนนางเข้ามายึดอำนาจ ชัยศิริ สมุทวณิช ผู้เขียนบทความ “โลกทัศน์ทางการเมืองในวรรณกรรมของครูเทพ” ได้ศึกษาแนวคิดทางการเมืองของครูเทพในแต่ละยุคผ่านงานเขียนและชิ้นงานบทกวี ลำนำต่างๆ มาสกัดเรียงแนวคิดทางการเมืองในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่รับใช้ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงช่วงขุนนางปฏิกิริยากฎุมพี

ผลการศึกษาระบุว่า สำหรับยุคต้นซึ่งครูเทพทำงานในระบบสังคมศักดินา เป็นที่แน่ชัดว่าท่านถวายความจงรักภักดี อย่างไรก็ตาม ชัยศิริ มองว่า ท่านไม่ได้ยึดติดและยังมองเห็นความเปลี่ยนแปลงตามภาวะแวดล้อมอยู่ด้วย อิทธิพลทางความคิดสำคัญที่ชัยศิริมองว่าเป็นผลทำให้ครูเทพหลุดจากแนวคิดแบบอนุรักษนิยม คือโลกทัศน์แบบพุทธปรัชญา มีแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เห็นได้จากแนวคิดเรื่องกรรม อนิจจังของสรรพสิ่ง ซึ่งพบเห็นได้จากบทโคลงกลอนหลายเรื่อง และสังเกตได้ว่าอิทธิพลเหล่านี้ส่งผลต่อลักษณะการมองสภาพการเมืองในสังคมไทย เช่น ในบท วัฏฏโก โลโก (สิงหาคม 2477) ครูเทพวิพากษ์ลักษณะการเมืองหลายรูปแบบเอาไว้ และชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละระบบ

ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก : รู้ไปโม้ด

ท้ายที่สุดแล้ว ชัยศิริมองว่า ระบบการเมืองที่ครูเทพเลือกนิยมมีแนวโน้มว่าจะเป็น “สังคมนิยมประชาธิปไตย” อันเนื่องมาจากการพิจารณาอิทธิพลทางศาสนา อิทธิพลทางความคิดของท่านในช่วงที่ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ และเมื่อผนวกเข้ากับมุมมองความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าท่านมีลักษณะในกลุ่มเคลื่อนไหวก้าวหน้า ต้องการการเปลี่ยนสังคมไปในแนวทางพัฒนาการแบบอนุโลม มากกว่าการปฏิวัติเหมือนเช่นกลุ่มคอมมิวนิสต์

ชัยศิริวิเคราะห์ว่า ท่านเห็นว่าวิธีการรวบรัดเป็นวิธีสุดโต่ง และมองสังคมนิยมแบบ Corporate State ว่าเหมาะสม เนื่องจากรวมเอกภาพระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ไว้

เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กรณีที่มาสัมผัสงานทางการเมืองแล้ว ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับ สถิต เสมานิล นักหนังสือพิมพ์ ในหนังสือรวมบันทึกชื่อ “วิสาสะ บท หนังสือพิมพ์ในยุค ร.7” ระบุว่า สัมภาษณ์ที่บ้านเทพทับ ถนนนครสวรรค์ เวลาบ่ายหนึ่ง เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2471

“ฉันได้ฟังกับหูรู้แก่ตาที่มีพระราชปรารภเรื่องการปกครองด้วยมีรัฐสภา…การปกครองรูปนั้นเธอคงรู้แล้วว่าราษฎรเลือกตั้ง ผู้แทนเข้าเป็นเม็มเบอร์ของปาร์ลิเมนต์ คือสภาปรึกษาราชการแผ่นดิน กฎหมายที่ออกไปบังคับกับราษฎรก็มีราษฎรยอม แล้วรัฐบาลได้รู้ความตื้นลึกของราษฎรที่กฎหมายจะออกไปบังคับเขา เพราะว่ามีผู้แทนราษฎรปรึกษา ราษฎรที่เป็นเม็มเบอร์ในสภา อาจมีนักเลงโต อาจมีนักธรรมที่คนในตำบลนับถือ ก็ชั่งปะไร ถึงเขาจะไปนั่งปรึกษาออกกฎหมายแต่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ก็ไม่ทำให้เสียประโยชน์ โดยเหตุที่ฝ่ายปกครองจะได้รู้ภาวะอันแท้จริงของราษฎรที่กฎหมายจะออกไปบังคับ สมมติว่าจะเก็บภาษีเกวียน เพิ่มอากรค่านา รัฐบาลจะไปรู้ดีกว่าคนทำนายังไง ว่าผลที่ชาวนาทำมาหาได้ ถึงขั้นจะต้องเสียภาษีเสียอากรเพิ่มหละหรือ อย่างนี้จะได้อาศัยเสียงเม็มเบอร์ผู้แทนชาวนา ซึ่งอาจเป็นคุณมากกว่าเม็มเบอร์ที่มีดีกรีจากนอกด้วยซ้ำ”

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน