เผด็จการรัฐสภา

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เผด็จการรัฐสภา – การบ้านชิ้นหนึ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรต้องถกเถียงและหาทางแก้ไขรัฐธรรม นูญต่อไป หลังจากพบจุดบกพร่องของระบบที่สวนทางกับระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจหน้าที่ของวุฒิสมาชิก

เนื่องจากสมาชิกทั้งคณะ 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง นอกจากไม่อาจสะท้อนเสียงใดๆ จากประชาชนได้เลย ยังไม่อาจแสดงความหลากหลายทางความคิดระหว่างกันได้

ส.ว. กลับมีอำนาจถึงขั้นร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายบริหาร ด้วยเสียงก้อนใหญ่

กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินแพ้ชนะด้วยเสียง แต่เป็นการใช้อำนาจบดบังความสำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่มาจากประชาชน

คําศัพท์ทางการเมืองหนึ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ได้แก่ เผด็จการประชาธิปไตย ซึ่งมาจากฝั่งของวุฒิสมาชิกผู้ประกาศตัวว่านิยมระบอบหรือลัทธิดังกล่าว

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ไม่เคยพบคำนี้ในโลกสากลมาก่อน เพราะเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกรับรู้ร่วมกันว่า เผด็จการแตกต่างและอยู่คนละขั้วกับประชาธิปไตย

เผด็จการเป็นคำใช้เรียกลัทธิการปกครอง ที่ผู้นำคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียว ที่ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด

แต่กลับมีความพยายามจากผู้นิยมลัทธินี้ที่ดึงคำว่า เผด็จการเข้ามาผสมกับประชาธิปไตย เพื่อบิดเบือนหลักการและคุณค่าของประชาธิปไตย

อดีตมีผู้โจมตีการครองเสียงข้างมากของพรรคการเมืองพรรคใหญ่ ด้วยการสร้าง คำว่า เผด็จการรัฐสภา

เพื่อสร้างภาพลบต่อรัฐสภาหรือนักการเมือง ว่าเป็นบุคคลที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จและทำทุกอย่างตามอำเภอใจ

การโจมตีดังกล่าวไม่ตระหนักว่า ผู้แทนทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งและไปได้ด้วยการเลือกตั้ง ประชาชนจะเป็นผู้สร้างความสมดุลทางอำนาจได้เองตามพัฒนาการทางประชาธิปไตย

แต่บุคคลที่นิยมเผด็จการนั้น มักเรียกหากองทัพเข้ามายึดอำนาจจากประชาชนและเปิดทางให้ผู้นิยมเผด็จการส่งเสียงได้ดังขึ้นและมีอำนาจเหนือประชาชนมากขึ้น

วงจรของการครองอำนาจโดยคณะบุคคลที่การตัดสินใจเบ็ดเสร็จนี้ จึง ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน