ชำแหละบิ๊กตู่นั่งนายกฯ สมัยสอง

ชำแหละบิ๊กตู่นั่งนายกฯ สมัยสอง – หลังจากส.ส.-ส.ว.โหวตเลือก ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯคนที่ 29 สมัยสอง ด้วยคะแนนท่วมท้น 500 ต่อ 244 เสียง พร้อมยืนยันจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และระหว่างนี้จะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)พิจารณาจัดสรรโควตารัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาลให้ลงตัว เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

ขณะที่นักวิชาการและภาคเอกชนมีมุมมองถึงการที่พล.อ.ประยุทธ์ นั่งนายกฯสมัยสอง ดังนี้

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การกลับเข้ามาเป็นนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ท่านเริ่มเผชิญตั้งแต่ยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ คือโดนอภิปรายในเรื่องคุณสมบัติของนายกฯ โดยที่ท่านไม่ต้องอยู่ในที่ประชุมสภาเพื่อแก้ต่าง เพราะมีพรรคพลังประชารัฐและพรรคส่วนต่อขยาย ไปจนถึงส.ว.ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนอีก 250 คน ทำให้ท่านไม่ต้องอยู่เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งถือเป็นเรื่องประหลาดที่สุด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เค้าลางของความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้น เมื่อได้เห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสัญญารวมทั้งการต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีอีกรอบภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ

เปรียบเสมือนตกลงกันว่าจะให้สินสอดทองหมั้นเท่านี้ แต่พอสมรสกันแล้วถึงเวลากลับมาขอลดจำนวน ไม่ส่งสินสอดให้ตามที่สัญญากันไว้ ถือเป็นการสร้างความไว้วางใจให้กับพรรคร่วมรัฐบาลที่แย่ที่สุด

ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีจำนวนมากนั้น มองว่าจะเกิดปัญหาความไม่มีเสถียรภาพในการบริหารงานอย่างแน่นอน รัฐบาลนี้จะกลายเป็นบุฟเฟต์ คาบิเนตเหมือนในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กลุ่มต่างๆ จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในกระทรวงสำคัญ แม้ว่าจะไม่มีคุณลักษณะหรือความเหมาะสม ในการบริหารกระทรวงนั้นๆ แต่ก็ต้องสลับสับเปลี่ยน ผลัดกันบริหารในแต่ละกระทรวง

จึงต้องมาดูกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีความสามารถในการบริหารจัดการแค่ไหน เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นเพียงหัวหน้าพรรคของวุฒิสภา

ดังนั้นความสุ่มเสี่ยงในการควบคุมเสียงในสภา มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าจะต้องมีการโหวตในเรื่องสำคัญๆ ถามว่าถ้าเกิด ส.ส.ไม่สบาย ลาป่วยขึ้นมากะทันหัน ไม่อยู่ในที่ประชุมแล้วจะทำอย่างไร

ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้จะอยู่ท่ามกลางการต่อรองกันจนถึงที่สุด จึงเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะอายุสั้น อยู่ไม่ครบ 4 ปี ประเมินว่าน่าจะได้ สัก 2 ปี สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพิกลพิการของกฎกติกา

ท้ายที่สุดการบริหารของรัฐบาลจะไร้เสถียรภาพ หากจะทำให้อยู่ยาวได้คงต้องอยู่กันแบบบุฟเฟต์ คาบิเนต ผลัดกันเป็นรัฐมนตรี สลับกันคุมกระทรวง แต่คงเป็นบุฟเฟต์ที่ประชาชนคงไม่อิ่มอร่อยด้วย เพราะคงไม่ได้คนที่เข้ามาคุมกระทรวงได้ตรงกับความสามารถ แต่เป็นเรื่องของโควตาเท่านั้น ก็ต้องถามว่าประชาชนจะทนได้มากแค่ไหน

ส่วนพล.อ.ประยุทธ์จะต้องปรับเปลี่ยนบุคลิกอะไรหรือไม่นั้น ตนมองว่าท่านเป็นไม้แก่คงดัดยากเต็มทีแล้ว แต่ก็ขอเอาใจช่วย

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์

โดยทั่วไปลักษณะผู้นำทางการเมืองต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง รวมทั้งต้องมีบารมี ซึ่งบารมีที่จะได้มานั้นต้องดูความประพฤติที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร และต้องมีความซื่อสัตย์ เสียสละ เก่ง มีความสามารถ และมีความเมตตา

แต่วันนี้ที่เราเห็นลักษณะของพล.อ.ประยุทธ์คือเป็นคนพูดมากแต่การกระทำนั้นทำน้อย ซึ่งจะตรงกันข้ามกับลักษณะที่ผู้นำจะต้องพูดน้อยแต่เน้นที่การกระทำ และไม่ควรไปต่อล้อต่อเถียงกับสื่อมวลชนเพราะสื่อจะเป็นตัวกระจายสิ่งที่เราได้กระทำ

ที่สำคัญต้องประพฤติปฏิบัติให้ตรงกับที่ประชาชนประสงค์ไว้คือ ต้องปราบปรามการคอร์รัปชั่นให้ได้ แต่เท่าที่เห็นพล.อ.ประยุทธ์กลับทำทุกอย่างได้แย่หมด ทั้งปัญหาการศึกษา เศรษฐกิจ นั่นแปลว่า นายกฯไม่เก่ง ไม่มีความสามารถและรวมไปถึงครม.ด้วย

ถ้าเก่งจริงต้องใช้งานคนของตัวเองได้ สั่งงานรัฐมนตรีเป็น ฉะนั้นเมื่อคุณไม่เก่งคุณก็ต้องหาคนที่เก่งๆ เช่น นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ให้มาร่วมทำงานด้วย

ส่วนความสมถะก็จำเป็นต้องมี แนะนำให้พล.อ.ประยุทธ์เลือกใช้ชีวิตอย่างสมถะ ทั้งการอยู่การกินไม่ต้องหรูหรา เวลาไปไหนมาไหนไม่จำเป็นต้องมีคนติดตามจำนวนทีละมากๆ หรือถ้าอยากให้ดีก็ประกาศออกมาเลยว่าไม่ขอรับเงินเดือนตำแหน่งนี้ แล้วเอาเงินนี้ไปช่วยเหลือคนยากไร้ หรือองค์กรต่างๆ จะดีกว่า

สิ่งหนึ่งที่ต้องลดคือ ลดความใจร้อน ไม่ต้องไปปะทะวาจากับสื่อมวลชน หรือให้ดีจะยึดถือหลักของพระพุทธเจ้าที่ต้องมีศีล สมาธิ และปัญญาก็ได้

สำหรับเสถียรภาพของรัฐบาลที่จะมีนั้น ยอมรับว่ารัฐบาลผสมจะมีปัญหาอยู่แล้ว แต่คงต้องดูที่ตัวนายกฯ เองที่จะจัดการเหล่ารัฐมนตรีได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าปัญหาเกิดในกระทรวงก็ให้ตามจัดการกับกระทรวงนั้นเลย

หากยังจะเอาคนที่เป็นกลุ่มนายทุนมาร่วมรัฐบาลเชื่อได้เลยว่าคนเหล่านั้นจะมาเพื่อหวังถอนทุนก่อนอันดับแรก ความโปร่งใสรัฐบาลนี้จึงเป็นที่น่าจับตาดู

ส่วนความน่าเชื่อถือจากนานาชาติจะมีมากน้อยแค่ไหนต้องเข้าใจว่าสังคมปัจจุบันนี้เราทำอะไรไปนิดเดียวทั่วโลกรับทราบหมดและเร็วด้วย ฉะนั้นทำอะไรแล้วอย่าคิดว่าใครเขาจะไม่รู้ เสถียรภาพจะเกิดขึ้นได้จึงอยู่ที่ตัวของผู้นำด้วย ดังนั้นในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ถ้าทำไม่ดีแค่ 5 เดือน ทั่วโลกก็รับไม่ได้แล้ว จึงควรมีคนเก่งมาร่วมทำงาน ร่วมแก้ไขปัญหาด้วย

วิโรจน์ อาลี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

พล.อ.ประยุทธ์ ได้นั่งนายกฯต่ออีกสมัยนั้น เรื่องการปรับบุคลิกถือเป็นเรื่องใหญ่ นอกเหนือจากภาพลักษณ์ที่จะต้องใจเย็นมากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการบริหารงาน เนื่องจากมีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค และมีข้อเรียกร้องจากสังคมมากขึ้นด้วย และต้องพร้อมที่จะดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ไม่ใช่เป็นเรื่องของกำปั้นทุบดิน ต้องใช้ข้อมูลต่างๆ ในการแย้งกับฝ่ายที่เสนอแนะ

ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การบริหารและการจัดการราบรื่นและลดแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย

การมีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคนั้นถือเป็นจุดอ่อนอย่างมาก เพราะเราเคยเห็นอย่างนี้มาแล้วในรัฐบาลหลังพฤษภาทมิฬ ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลอยู่ไม่นาน เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการต่อรองอยู่เสมอ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องจับมือกันได้ จะทำให้การบริหารงานไม่มีเอกภาพ

และถ้ามาแบบจับมือกันโดยมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำ แรงกดดันจะลงไปที่แกนจัดตั้งรัฐบาลคือพรรคพลังประชารัฐอย่างมหาศาลซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่ 11 พรรคเล็ก ก็ยังต่อรองได้

ที่สำคัญคือถ้าผลงานไม่ออกมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากจากการทำงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผลเสียจะไปเกิดที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์โดยตรง ขณะเดียวกันจะทำให้พรรคพลังประชารัฐแทบจะไม่มีจุดยืนในการหาเสียงเลือกตั้งในคราวหน้าเลย

ส่วนเสถียรภาพของรัฐบาล ในเชิงของรัฐธรรมนูญ หากดูตามกลไกต่างๆที่ถูกวางไว้ เช่น บทบาทสว. ก็เชื่อว่าอยู่ได้ แต่ในแง่ของประชาชนที่มีความคาดหวังต่อการทำงานของรัฐบาลจะเป็นงานลบมากๆสำหรับรัฐบาล จะทำเหมือน 5 ปีที่แล้วที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จคงจะยากแล้ว

ดังนั้นคิดว่าเสถียรภาพจะอยู่ที่มุมมองของประชาชนที่จะมองไปที่ตัวรัฐบาลมากกว่า และถ้าหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งก็ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากยุบสภาเพื่อที่จะแก้เกมใหม่

การเป็นนายกฯที่มาจากรัฐประหารกลับมาจากการเลือกตั้ง ในแง่มุมความน่าเชื่อถือจากนานาชาตินั้น หากบางประเทศมองประเทศไทยในแง่มิติทางเศรษฐกิจ หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะมองว่าความชอบธรรมมีมากขึ้น เพราะเมื่อปลดล็อกตรงนี้แล้วเขาสามารถเจรจาการค้าได้ สามารถเข้ามาร่วมทุนได้ ก้าวข้ามเงื่อนไขเดิม แต่ขึ้นอยู่กับตัวนายกฯ ด้วยว่าจะใช้อำนาจ แนวนโยบายต่างๆ ไปในลักษณะใด

ขณะเดียวกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมีมุมมองเรื่องการเมืองด้วย พูดตรงๆ ว่าถ้าเราดูภาษาและประเด็นที่สื่อต่างประเทศใช้ ไม่ได้มองว่าท่านมาในฐานะที่เป็นนายกฯมาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรว่าเป็นการต่ออายุเพราะกลไกเรื่องรัฐธรรมนูญ และกลไกต่างๆ ถูกวางเอาไว้เพื่อให้สามารถสืบทอดอำนาจได้ อันนี้จะเป็นแรงกดดันอยู่

ส่วนการวางตัวรัฐมนตรีนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหลายคนที่เคยอยู่ในรัฐบาลที่แล้ว พูดตรงๆ ว่าบางคนก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ นายกฯ ต้องนำคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแล้วทำให้การดำเนินนโยบายรัฐบาลก่อให้เกิดผลในทางบวกอย่างแท้จริง เรื่องนี้จำเป็นเพราะการคลิกคนเข้ามานั้นจะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วยังจะช่วยภาพลักษณ์ของนายกฯ ด้วย

ดังนั้นการคลิกคน การเลือกคน ต้องทำอย่างรัดกุม และให้เป็นมาตรฐานสากลด้วย

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)

ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่มีการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลกันอย่างชัดเจนและได้ชื่อนายกฯ คนใหม่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเฝ้ารอ ซึ่งจากนี้ไปคงต้องจับตาดูการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าร่วมครม. ในแต่ละกระทรวง ควรเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในตำแหน่งงานที่จะเข้ามารับผิดชอบ และที่สำคัญต้องไม่มีการทุจริตในหน้าที่

ถ้าถามว่าอยากเห็นหน้าตาครม.เป็นอย่างไร คงไม่สามารถระบุว่าอยากได้ใคร ชื่ออะไร แต่สิ่งที่เอกชนอยากได้ คือ คนที่ตั้งใจทำงานจริงๆ ห้ามคอร์รัปชั่น และเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่กำลังเจอมรสุมหลายด้านทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และกำลังซื้อในประเทศ

ครม.ชุดนี้น่าจะมีคนหน้าเดิมหลายคนทำให้สามารถสานต่องานได้ทันที และคงต้องเร่งมือให้เห็นเนื้องานจริงๆ อย่างน้อยก็อยากให้อยู่ทำงานได้ถึง 6 เดือนให้ได้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม

ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลใหม่ผลักดันและขับเคลื่อนการทำงานต่อเนื่อง และอยากเห็นบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน โดยการรื้อฟื้นการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) เป็นประจำทุก 6 เดือน และการประชุมคณะกรรมการความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจเป็นประจำทุก 3-4 เดือนจากการจัดให้มีการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อน

อยากฝากให้รัฐบาลทำอย่างไรก็ได้ให้คนมีเงิน นำเงินออกมาใช้ให้มากที่สุด เกิดการ กระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ เช่น การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนอสังหา ริมทรัพย์ เนื่องจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงนี้ซบเซา

รวมถึงการทบทวนความจำเป็นปลดล็อกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย(แอลทีวี) ที่ต้องดำเนินการอย่างสมดุลไม่ให้มีการเก็งกำไร พร้อมกระตุ้นสินค้าเกษตร ขยายตลาด มีมาตรการทางการเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อเนื่อง

นายกฯเป็นคนน่ารัก เพียงแต่อยากให้ใจเย็นลงอีกสักนิด โดยเฉพาะกับสื่อมวลชนที่ไม่อยากให้ทะเลาะกัน อยากให้ยิ้มเข้าไว้ ไม่อยากให้เครียด และอยากให้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านปรับท่าทีให้เกิดภาพความปรองดอง ช่วยกันทำงานเพื่อชาติ

อยากให้รัฐบาลกับฝ่ายค้านมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกัน เช่น นัดสังสรรค์กินข้าวกันบ้าง หรือจัดกิจกรรมปลูกป่า กระชับความสัมพันธ์สร้างความเป็นมิตรที่ดีในการร่วมกันพัฒนาประเทศ ไม่เคร่งเครียดปักหลักกันแต่ประเด็นที่จะนำไปสู่การสร้างความแตกแยกให้กับบ้านเมืองมากนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน