จุดพลุแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

จุดพลุแก้ไขรัฐธรรมนูญ – หลายพรรคการเมือง รณรงค์หาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่า หนึ่งในภารกิจหลักในสภาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

โดยชี้ว่ากฎหมายแม่บทฉบับนี้ คณะผู้ยกร่างมีเจตนาออกแบบในการรองรับอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งอาจจะต่อเนื่องยาวไปถึง 8 ปี

ผ่านกลไกสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และการคัดตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ให้อำนาจไว้ในบทเฉพาะกาลอย่างแยบยล

เห็นได้จากผลโหวตนายกรัฐมนตรีที่ไปในทิศทางเดียวกันเอกฉันท์ถึง 249 เสียง

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ชี้เป้าที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งฉบับ จะต้องเริ่มที่มาตรา 272 ที่ให้อำนาจส.ว.แต่งตั้งลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส. และมาตรา 279 ที่รับรองอำนาจของกลุ่มนี้

จากนั้นจะใช้รูปแบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ในปี พ.ศ.2538 มาใช้ เพื่อเปิดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจนได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นประชาธิปไตย และประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

แต่เนื่องจากการวางค่ายกลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก จะใช้เสียงจากสภา พรรคการเมืองอย่างเดียวย่อมไม่มีหนทางสำเร็จลุล่วง เนื่องจากต้องให้ส.ว.เห็นชอบด้วยถึง 1 ใน 3

พลังขับเคลื่อนและฉันทามติของประชาชนจึงสำคัญมาก

จากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค จำนวน 246 เสียง คงจะประกาศจุดยืนเพื่อรณรงค์หาแนวร่วมเดินหน้าต่อไป หลังจากได้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่เข้าไปร่วมสนับสนุนการสืบทอดอำนาจอย่างน้อย 2 พรรค ก็เคยมีท่าทีว่าจะแก้ไขรัฐธรรมเช่นกัน และบางพรรคถึงขนาดใช้เป็นข้ออ้างในการร่วมรัฐบาลด้วย เมื่อถึงตอนนั้นจะเห็นเป็นอื่นหรือไม่

เจตจำนงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มที่มีความหมาย หากทุกภาคส่วนทั้งพรรคการเมือง นักวิชาการ ประชาสังคม ตลอดจนถึงประชาชนส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกัน

การตีแผ่และสะท้อนปมเงื่อนอันตรายต่อประชาธิปไตย ที่หมกเม็ดซุกซ่อนในกฎหมายสูงสุดฉบับนี้จึงจะต้องเริ่มขึ้นโดยเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน