‘หุ้นสื่อ’ ป่วนทั้งขึ้นล่อง

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ชวนฉับไวไม่เชื่องช้า ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติ 41 ส.ส. ถือ “หุ้นสื่อ” โดยไม่มีคำว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน” ขณะที่ กกต.ซึ่งเลขาธิการมีชื่อข้ามห้วย ไปเป็น ส.ว.สำรอง ยังจดๆ จ้องๆ ไม่ส่งศาลสักที

เอ๋ ปารีณา โวยว่าบริษัทเธอทำฟาร์มไก่ จะเป็นหุ้นสื่อได้อย่างไร เพียงแต่แบบฟอร์มจดทะเบียนบังคับให้กรอกทุกช่อง ไม่งั้นก็ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เชื่อว่าศาลจะดูที่เจตนา

ใช่เลยครับ ถ้าว่าตามเนื้อผ้า ด้วยสามัญสำนึกคนทั่วไป ปารีณาไม่ได้ถือหุ้นสื่อ เพียงแต่วัตถุประสงค์บริษัท ข้อ 17 เขียนไว้ ประกอบกิจการด้านสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร บริษัททั้งหลายมักจดทะเบียนครอบคลุม ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ โดยไม่ได้ทำจริง อีก 40 ส.ส.ก็น่าจะทำนองเดียวกัน ไม่มีใครถือหุ้นสื่อจริง เพียงแต่มีในแบบฟอร์ม

แต่กรณีแบบเดียวกันเปี๊ยบ กกต.อ่างทอง กกต.สกลนคร ถอนชื่อผู้สมัครพรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ เมื่อร้องศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ศาลสั่งยกคำร้อง โดยวินิจฉัยว่าเป็นหุ้นสื่อ เป็นบุคคลต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง

“ที่ผู้ร้องอ้างข้อเท็จจริงว่าแม้มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวแต่บริษัทไม่ได้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือพิมพ์หนังสือจำหน่าย และออกหนังสือพิมพ์เลย ฟังไม่ขึ้น”

คำวินิจฉัยศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐาน ฉะนั้นก่อนวันที่ 24 มี.ค. ถ้า กกต.ราชบุรีถอนชื่อ ปารีณาก็หงายท้อง แต่เนื่องจาก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ทุกฝ่ายยังสับสน แม้แต่ กกต.เอง ผู้สมัครจำนวนมากจึงไม่ถูกเพิกถอน

กระทั่งหลังเลือกตั้ง ศรีร้องเอาผิดธนาธร “โอนหุ้นสื่อ” ซึ่งบางฝ่ายหมายมั่น ให้ตกเก้าอี้ ตัดสิทธิ ติดคุก ยุบพรรค ฟ้าต้องรอจนแก่งั่ก กว่าพ่อจะสมัคร ส.ส.ได้อีก 20 ปี ฯลฯ หุ้นสื่อจึงเป็นประเด็น ให้สนใจขุดคุ้ยกัน นอกจาก ส.ส.รัฐบาล 41 คน ฝ่ายค้านก็ถูกร้องหลายสิบคน กองพะเนินอยู่ที่ กกต.

จนป่านนี้ก็ไม่รู้ว่า กกต.จะเอาอย่างไร ทั้งที่มีคำวินิจฉัยศาลฎีกาค้ำคอ ตัดสินใจง่ายมาก คือใครถือหุ้นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ทำสื่อ ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ไม่เลือกรัฐบาลฝ่ายค้าน

กรณีธนาธรยากกว่านี้อีก คือเป็นข้อถกเถียงว่าโอนหุ้นก่อนหรือหลัง โอนหุ้นสำเร็จหรือยัง กกต.กลับตัดสินใจฉับไว

เมื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วมีผลอย่างไร ก็แล้วแต่ศาล จะเห็นพ้องกับศาลฎีกาหรือเห็นต่างก็ได้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

ถ้ายืนตามศาลฎีกา อนุมานว่าสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดยกพวง ใครเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็เลื่อนไป เป็น ส.ส.เขตต้องเลือกตั้งใหม่ ซึ่งใน 41 คน ก็มี ส.ส.เขต 31 คน ฝ่ายค้านอีกไม่รู้ เท่าไหร่

กระนั้น คนราชบุรีไม่ต้องเป็นห่วง เอ๋มีสิทธิสมัครใหม่ แค่โอนหุ้นทิ้งให้หมดก่อนวันสมัคร เช่นเดียวกับอีก 30 คน ซึ่ง กกต.ก็คงเอาผิดไม่ได้ เพราะไม่มีใครเจตนาไม่มีใครรู้เลยว่าถือหุ้นฟาร์มไก่จะกลายเป็นสื่อ รัฐก็ต้องเสียงบจัดเลือกตั้งใหม่ ส.ส.ก็ต้องเหนื่อยกันอีก ทั้งที่ตอนชนะเลือกตั้ง ไม่ได้มีใครใช้ “หุ้นสื่อ” เอาเปรียบคู่แข่งซักราย

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็อาจสะเทือน ถ้าโดนมากกว่า ฝ่ายค้าน ถ้าเลือกตั้งใหม่แล้วแพ้เยอะ “ตู่ 2” อาจกลายเป็นเสียงข้างน้อยจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นต่างกับศาลฎีกาก็ได้ เช่นอาจรับฟังที่เอ๋แย้ง ว่ารายได้มาจากไก่ ไม่ใช่ไลฟ์สด ไม่ได้ทำหนังสือพิมพ์ หรือศาลอาจรับฟังที่หลายคนให้เหตุผลว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการให้นักการเมืองถือหุ้นสื่อ เพื่อไม่ให้เอาเปรียบคู่แข่ง เพื่อไม่ให้แทรกแซงสื่อ จึงควรดูความเป็นจริง ไม่ควรดูเพียงวัตถุประสงค์ในทะเบียนบริษัท

“หุ้นสื่อ” 41 ส.ส. เหมือนคดีธนาธรหรือไม่ ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว เพราะคดีธนาธรเป็นนิตยสารแฟชั่นที่เลิกตีพิมพ์แล้ว เพียงแต่ยังไม่แจ้งเลิกกิจการ และมีประเด็นต้องวินิจฉัยใน ข้อเท็จจริงข้อกฎหมายว่า โอนหุ้นก่อนสมัครรับเลือกตั้งจริงหรือไม่ มีผลแล้วหรือยัง

กระนั้นในแง่เจตนารมณ์ก็ไม่ต่างกัน 41 ส.ส.ไม่มีสื่อจริง ธนาธรเคยมีแต่เลิกไปแล้ว ทั้งหมดไม่มีใครใช้ความเป็นเจ้าของสื่อเอาเปรียบคู่แข่ง ประชาชนไม่ได้เลือกเอ๋เพราะถือหุ้นสื่อ ประชาชนไม่ได้เลือกธนาธรเพราะถือหุ้นสื่อ แต่มีบางคนยึดจอทีวีพูดคนเดียว ซึ่งเอ๋อาจได้อานิสงส์บ้าง

นี่คือเหยื่อแห่งความไร้สาระของรัฐธรรมนูญ ตั้งข้อห้ามหยุมหยิม แล้วอ้างว่าสื่อจะเป็นกลาง ทั้งที่สื่อวันนี้เอียงสุดลิ่ม ปลุกความเกลียดชัง แล้วต่างตอบแทนกันเห็นๆ แต่บอกว่าโอนหุ้นแล้ว ไม่ทับซ้อน หรือผัวเมียไม่ได้จดทะเบียนกัน

ใครนะ ร่างรัฐธรรมนูญไปด้วยเป็นประธานบริษัทสื่อ ไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน