ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ – หมายเหตุ : ในงาน 70 ปี สถาปนาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ “วิชาการเพื่อราษฎร์ศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย” มีการจัดเสวนา “ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ การเมืองของความหวังหรือจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งต่อไป” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นางพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ นายโกวิทย์ พวงงาม สมาชิกพรรคพลังท้องถิ่นไทย ร่วมเสวนา วันที่ 14 มิ.ย. ที่มธ.ท่าพระจันทร์

ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

วิเชียร ชวลิต

หลังจากการเลือกตั้งกลับมีความรู้สึกเฟื่อง ฟูอีกครั้ง ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ให้สิทธิสภาหรือประชาชนมีอำนาจเด็ดขาดเหมือนปี 2540 แต่มีทั้งสภาและองค์กรอิสระที่มาทำหน้าที่ตรงนี้เป็นลูกผสมกับระบอบ ประธานาธิบดีไปในตัว คือเหมือนสหรัฐที่มีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบ

บรรยากาศการเมืองที่น่ากลัวเวลานี้ไม่ใช่ผล การเลือกตั้งคะแนนปริ่มน้ำ เท่ากับการต่อสู้ในเวลานี้ ก่อนวันที่ 24 มี.ค. ต่างฝ่ายต่างโฆษณาว่าพรรคตัวเองดีอย่างไร

แต่บรรยากาศการเลือกตั้งคราวนี้มีการโจมตี กล่าวหาเพื่อนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดี แต่ที่กังวลคือหลังการเลือกตั้งบรรยากาศเปลี่ยนมาสู่การไม่บอกว่าตัวเองดี อย่างไร แต่มาบอกว่าเพื่อนไม่ดีอย่างไร

สังเกตจากการประชุมสภา ถ้าเริ่มด้วยการบอกว่าเพื่อนไม่ดีอย่างไรเขาก็ต้องต่อสู้ ก็จะเป็นคดีขึ้นสู่ศาล สุดท้ายก็กลายเป็นการสู้รบปรบมือกัน

หากเราทำการเมืองให้เป็นการโฆษณา เชิญชวนให้เขาเคารพรักศรัทธาก็จะไม่นำคนไปสู่ท้องถนน แล้วจะไปบอกว่าเพราะกติกาไม่ดี เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ ประชาธิปไตยเราต้องเคารพสิทธิคนอื่น และไม่ควรไปตัดสิทธิคนอื่น

ส่วนการฟอร์ม ครม.ที่พูดกันฝุ่นตลบ มีความขัดแย้งมากระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลนั้น การจัดตั้งรัฐบาลผสมแต่ไหนแต่ไร ที่ผ่านมาสภาพก็ไม่มีความแตกต่างจากบรรยากาศตอนนี้

แต่สิ่งที่พัฒนาการมา การเป็นครม.ภายใต้กฎหมายใหม่ ตัวบทกฎหมายที่บอกว่ารัฐมนตรีต้องทำอะไรบ้างละเอียดและเยอะมาก ซึ่งน่ากลัวกว่า

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

สิ่งที่เราเป็นอยู่ไม่ใช่วิกฤตครั้งใหม่แต่ เป็นวิกฤตเดิมที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 19 ก.ย. 49 วันนั้นถึงวันนี้ใจกลางปัญหาไม่ได้อยู่ที่บุคลิกหน้าตา หรือท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อยู่ที่อำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร 20 ปีผ่านมาเรามีรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับเป็นการบอกว่าสังคมไทยตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร อยู่ที่ไหน นี่คือต้นตอปัญหาและยังอยู่ในวิกฤตเดิม

นี่คือการเข้าสู่เฟสใหม่การต่อสู้ระหว่าง 2 ชุดความคิด เป็นระยะที่ไม่มีองค์กรที่ชื่อ คสช.เมื่อมีรัฐบาลใหม่ แต่ ระบอบคสช.ยังอยู่กับเราในรูปแบบของรัฐธรรมนูญ 2560 ในรูปส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ในรูปองค์กรอิสระที่แต่งตั้งในยุคของคสช. ในรูปคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ในรูปของกฎ กติกาการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม และในรูปของนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ระบอบคสช.จะยังอยู่กับประเทศไทย

การเข้าสู่ระยะใหม่คือการเปิดประตูของความ หวัง 2 วัน ที่ผ่านมามีการเคลื่อนตัวทางความคิดขนาดใหญ่ของสังคมจากอนุรักษนิยมมาฝั่ง ที่เชื่อว่าอำนาจเป็นของประชาชน เห็นได้จากพานไหว้ครู การตื่นตัวทางการเมืองและทางสังคมถูกปลุกขึ้นแล้วและโอกาสที่จะดับมันแทบจะ เป็นไปไม่ได้ จึงนึกไม่ออกฝ่ายที่เชื่อว่าอำนาจมาจากประชาชนจะแพ้ได้อย่างไร ทุกปีมีคนอายุ 18 ปี บรรลุนิติภาวะปีละ 700,000 คน พวกเขาแสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เขาเห็น 10 กว่าปี คืออะไรและได้แสดงออกแล้ว

การจำกัดสิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ในช่วง 5 ปี จะเป็นไปได้ไม่ง่ายต่อไป โชคดีที่อนาคตใหม่มีส.ส.มากกว่า 20 คน สามารถเสนอกฎหมายเข้าไปในสภาได้ เราจะรณรงค์อย่างแข็งขันหนักแน่น เรื่องแรกคือการรณรงค์ปรับแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และ 279 เรื่องอำนาจส.ว. เรื่องที่สองคำสั่งคสช.ที่มีอำนาจชั่วกัลปาวสาน และรณรงค์การปฏิรูปกองทัพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนคือ ยุติการเกณฑ์ทหาร ยุติระบบราชการรวมศูนย์ และการกระจายอำนาจ ซึ่งเชื่อว่าเป็นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง อำนาจ รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการและการเมืองยึดโยงด้วยกัน

ต่อไปจะมีคนพูดว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มา จากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย จะมีคนอ้างเรื่องนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้พล.อ.ประยุทธ์ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ตัวอย่าง นายจุรินทร์ (ลักษณวิศิษฏ์) ให้สัมภาษณ์ว่าที่ร่วมกับพลังประชารัฐเพื่อผลักดันนโยบายของพรรค และการร่วมกับฝั่งต้านคสช. ไม่ถึง 376 เสียง อย่างไรก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล หมายความว่าการดำรงอยู่ของส.ว.บิดเบือนการตัดสินใจของพรรคต่างๆ ตั้งแต่ก่อนโหวตนายกฯ

นายอนุทิน (ชาญวีรกูล) บอกว่าภูมิใจไทยจะไม่ร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อย หากใช้สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์แบบที่นักวิชาการหรือสื่อมวลชนคำนวณกลุ่มพรรค ที่ร่วมเสียงข้างมากในสภาล่างได้คือกลุ่มพรรคที่ต้านคสช. หากใช้ตรรกะนี้นายอนุทินจะไปร่วมกับพปชร.ไม่ได้เลย

นักการเมืองที่ไปเป็นนั่งร้านให้เผด็จการ ไม่ต้องโอ้อวดว่าเกิดเดือนตุลาฯปีไหน มันตอบไม่ได้ทำไมไปสนับสนุนพล.อ. ประยุทธ์ ทำไมไม่กล้าพูดเรื่องจริงว่าคนที่เป็นปัญหาของความขัดแย้ง ไม่ใช่คนที่ลุกมาทวงสิทธิและเสรีภาพคืน แต่เป็นคนที่ขโมยอำนาจมาแล้วเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจอยู่กับเขาไปตราบนานแสน นาน จะปล่อยให้คนพวกนี้ตีกินเรื่องความขัดแย้งไม่ได้

ส่วนการกระจายอำนาจถามว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และ 5 ปีของคสช.อำนาจถูกกระจายไปท้องถิ่นมากขึ้นหรือถูกดึงเข้ามายังส่วนกลาง ความเหลื่อมล้ำที่กระจุกตัวอยู่กับส่วนกลางคือปัญหา แล้วรัฐเผด็จการที่สืบทอดอำนาจจะกระจายอำนาจคงเป็นไปไม่ได้

ส่วนคำถามว่าจะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่นั้น สุดวิสัยที่จะตอบได้ แต่หากเกิดขึ้นอีกขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อต้าน การรัฐประหารไปด้วยกัน ศตวรรษที่ 21 ไม่ควรเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกแล้ว

การแก้รัฐธรรมนูญหากแก้รายมาตรามองว่าแก้ ทั้งฉบับง่ายกว่า และไม่มีทางที่จะมีใครคนใดคนหนึ่งทำสำเร็จ ต้องระดมพลังจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนมหาศาล ถึงเวลาดึงจิตวิญญาณเมื่อครั้งรณรงค์ธงเขียวกลับเข้ามา ทำให้เรื่องนี้เป็นมติร่วมกันของคนทุกสาขาอาชีพ ทุกวัยให้ได้

ปัญหาการรณรงค์คืออย่าไปเชื่อวาทกรรมที่ ผิดๆ ของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน การรณรงค์อย่างสันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนขั้นพื้นฐานที่รองรับในรัฐธรรมนูญไทย กฎบัตรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ไม่ใช่เรื่องผิด อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษก็รณรงค์บนท้องถนนได้เป็นเรื่องปกติ

พรรคเราเห็นด้วยต้องแก้ทั้งฉบับ แต่เห็นว่าในขณะที่ยังแก้ทั้งฉบับไม่ได้จะเริ่มรณรงค์ผลักดันเข้าสภาในการ แก้รายมาตรา เริ่มรณรงค์เรื่องปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การปฏิรูประบบราชการแบบรวมศูนย์ มารณรงค์เหล่านี้ด้วยกันอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เลวร้าย อย่าให้ใครมาหลอกตีกินพวกเราได้อีกเพราะเป็นสิทธิเสรีภาพประชาชน

เชิญชวนร่วมกันเริ่มจากกดไลก์ กดแชร์ ง่ายที่สุด พูดกับเพื่อน สมาชิกครอบครัว ทำให้การรณรงค์ในชีวิตที่ก้าวหน้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันให้ได้

โกวิทย์ พวงงาม

ในทางการเมืองการทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ ต้องพูดตำแหน่ง ส่วนจะเป็นความหวังหรือจุดวิกฤตต้องวิเคราะห์หลายเรื่อง ที่ผ่านมาถ้าพูดถึงรัฐบาลจะอยู่หรือไปมีหลายปัจจัย อย่างขณะนี้เสียงในสภา 244 กับ 251 เอาเสียงส.ว.ออกไป

และยังมีปัจจัยคือหน้าตารัฐมนตรีดูดีหรือ ไม่ ซึ่งเรายังไม่เห็น ซึ่งสำคัญและประชาชนเฝ้าดูว่าจะมีความสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง แก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน เป็นความท้าทาย

ประเด็นที่สาม ความซื่อสัตย์ สุจริต การไม่เห็นแก่ประโยชน์ของพรรค หรือถอนทุนคืน รัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาล ต่อมาคือ ต้องสร้างศรัทธาในการทำตามนโยบายที่แถลงไว้ สุดท้ายการเมืองระบอบประชาธิปไตย ความแตกต่างต้องอยู่ร่วมกันได้

ส่วนพรรคเราจะผลักดันการกระจายอำนาจ ไปสู่ ท้องถิ่น ชุมชน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้การเมือง จะเป็นความหวังมากกว่าวิกฤต

พงศ์เทพ เทพกาญจนา

เมื่อจัดตั้งครม.แล้วเสร็จ ม.44 ที่ปิดปากสื่อมา 5 ปี ตรวจสอบไม่ได้จะหมดไป แม้คสช.จะหมดไปแล้วแต่ร่างทรงและวิญญาณของคสช.ยังอยู่ในชื่อเดิม พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ ร่างทรงนี้ถ้าอยู่กับสนช.จะถูกประคบประหงมยิ่งกว่าไข่ในหินแต่ในสภา เพื่อไทย อนาคตใหม่ อีกหลายพรรคจะตรวจสอบร่างทรงคสช.อย่างเข้มข้น

ที่ผ่านมา เรามีข้อสงสัยแล้วไปพึ่งองค์กรอิสระแต่ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ในสภาข้อสงสัยของพี่น้องประชาชนจะได้รับการเปิดเผยผ่านการตั้งกระทู้ทุก สัปดาห์ พรรคพลังประชารัฐต้องทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์ร่างทรงคสช.มากหน่อย เพราะพรรคร่วมบางพรรคคงไม่อยากเปลืองตัวมาทำหน้าที่ให้

ส่วนที่มาส.ว.ไม่โปร่งใส ทำอะไรลับๆ ล่อๆ ทำให้สังคมคลางแคลงใจ น่าสงสัย เมื่อเปิดเผยออกมาคนก็งงเป็นไก่ตาแตก ที่บอกว่ามีมาตรฐานจริยธรรมนั้นใช่หรือไม่ มีญาติไปอยู่ในส.ว. ที่สำคัญคือการมีชื่อเลขาธิการกกต.อยู่ในบัญชีสำรองอันดับ 8 ทั้งที่มีหน้าที่ต้องดูแลการเลือกตั้ง จะบอกว่าเสนอชื่อโดยที่เลขาฯกกต.ไม่รู้เรื่องไม่ได้ ความหวังของสังคมอาจไม่แย่เหมือนที่ผ่านมาแต่น่าเป็นห่วง

ภายใต้รัฐบาลผสม 19 พรรคแค่จัดทำนโยบายก็น่าเป็นห่วงแล้ว การทำงานต้องดูว่าจะมีเอกภาพหรือไม่ อย่างประชาธิปัตย์ก็คงไม่พอใจกับ 53 ส.ส.แน่ ความสามารถพล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการยอมรับจากพรรคร่วมหรือไม่

ฝ่ายค้านทำได้อย่างเก่งก็ตรวจสอบ ที่ผ่านมากฎหมายฝ่ายค้านที่เสนอได้รับการพิจารณาในสภาน้อยมาก เรื่องสำคัญคือการ แก้รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย คงไม่แก้ไม่ได้ เขาไม่ได้เขียนมาให้แก้แต่เขียนมาให้ฉีก ตอนเกิดพฤษภาทมิฬแก้ได้แต่เขียนอย่างนายมีชัย (ฤชุพันธุ์) แก้ไม่ได้ และเขียนไว้ระเกะระกะจะแก้ทีละมาตราสองมาตราแต่มันโยงกันไปหมด ต้องยกร่างใหม่แต่กลไกถูกปิดช่อง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้คือต้องทำประชามติ ถามประชาชนว่าใช้รัฐธรรมนูญต่อหรือไม่ หรือพร้อมจะทำกติกาใหม่ที่เป็นธรรม ซึ่งจะแก้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ต้องยก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ให้อำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริงโดยต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน