ประธานอาเซียน

คอลัมน์ – บทบรรณาธิการ

ประธานอาเซียน – ระหว่างไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ อาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 34 วันที่ 22-23 มิ..2562 นอกเหนือจากหน่วยงานที่ต้องเตรียมเนื้อหาการประชุมด้านเศรษฐกิจแล้ว ภารกิจหลักที่มีข่าวเป็นระยะคือ การรักษาความปลอดภัย

ทั้งการเตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ การตรึงเข้ม ทั้งในเมืองหลวง และพื้นที่จังหวัดต่างๆ ป้องกัน ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายกลุ่มมวลชนและลักลอบ ขนอาวุธ

อาจเพราะการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนครั้งก่อน และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อปี 2552 เกิดเหตุการณ์ คาดไม่ถึงมาก่อนจากความขัดแย้งทางการเมือง

ปัจจุบันความขัดแย้งนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแต่ระดับการปิดกั้นต่างกัน

สถานการณ์เมื่อสิบปีก่อนกับปีนี้ต่างกันมากในแง่ที่คสช.ยังคุมสถานการณ์อยู่ และผู้นำยังมีอำนาจในการใช้มาตรา 44

ด้วยกลไกการควบคุมดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าการเป็นเจ้าภาพอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ จะราบรื่นและเรียบร้อย

เพียงแต่ความเรียบร้อยภายนอกนั้นอาจ ไม่สามารถปิดบังความขัดแย้งและแบ่งแยกทางความคิดระหว่างกลุ่มคนได้

แม้ประเทศไทยจะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่สายตาจากภายนอกไม่ได้มองการฟื้นฟูทางประชาธิปไตยในแง่บวกมากนัก

สะท้อนจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ต่างประเทศ ที่เห็นว่า กระบวนการเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งเป็นไปตามที่กะเกณฑ์จัดวางไว้

เมื่อเปรียบเทียบกับเมียนมา เมื่อครั้งเป็นประธานอาเซียนครั้งแรกในปี 2557 สมัยของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ผู้มาจากการเลือกตั้ง ที่ยังไม่มีพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเข้าร่วมในปี 2554 จนทำให้เป็นที่กังขา

แต่ด้วยท่าทีและการปฏิรูปการเมืองอย่าง ต่อเนื่องของรัฐบาลเต็ง เส่ง ซึ่งค่อยๆ แสดงผลงานให้เห็นว่าเมียนมาพยายามปรับปรุงและปรับตัวเข้าสู่โลกมากขึ้น เปิดทางให้ฝ่ายค้านเข้าสู่สนามแข่งขันทางการเมืองอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

สายตาที่นานาประเทศมีต่อเมียนมาในฐานะประธานอาเซียนปีนั้นจึงไม่เป็นด้านลบมากนัก

โดยเฉพาะกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่แม้มีที่มาจากกองทัพ แต่ก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะรั้งอำนาจต่อไป

อ่าน –

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน