ก่อนการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจสามารถอ้างได้ว่าความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลมาจากการสกัดขัดขวางของฝ่ายค้าน

แต่พลันที่ 249 ส.ว.ประสานเข้ากับ 251 ส.ส.ขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างพร้อมเพรียง 500 เสียง

จากวันที่ 5 มายังวันที่ 18 มิถุนายน ความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อคลอดครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 ออกมาล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของพรรคพลังประชารัฐ

อาจมีความหงุดหงิดมาจากพันธมิตรอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ในตอนต้นบ้าง

แต่ในที่สุดแล้วความยุ่งยากล้วนมาจาก”พลังประชารัฐ”

ถามว่าเสียงโวยอันมาจากกลุ่มภาคอีสานตอนบนที่นำโดย นายเอกราช ช่างเหลา เป็นใคร

เขาคือเพชรเม็ดงามของพรรคพลังประชารัฐจากอีสาน

เป็นคนที่ทำงานในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์ เคียงบ่าเคียง ไหล่มากับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

19 ส.ส.ที่ได้มาทั้งเขตและบัญชีรายชื่อล้วนเป็นผลงานเขา

ถามว่าการจัดตั้ง”กลุ่มด้ามขวานไทย”ที่มี นายนิพันธ์ ศิริธร เป็นประธานเขามาจากไหน

ก็มาจากพื้นฐาน 13 ส.ส.ภาคใต้พรรคพลังประชารัฐ

การเรียกร้องต้องการของพวกเขาก็เกิดขึ้นจากการเปรียบ เทียบกับจำนวนรัฐมนตรีภาคใต้ไม่ว่าของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าของพรรคภูมิใจไทย

เพียงเห็นการทุ่มเทของ 2 พรรคคู่แข่งก็รู้แล้วว่า หากไม่มีคนของตนไปรับผิดชอบด้านบริหารบ้างโอกาสที่จะพ่ายแพ้พรรคประ ชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยสูงยิ่ง

ทั้งหมดล้วนเป็นความไม่พอใจในพรรคพลังประชารัฐ

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจสามารถ”โบ้ย”ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้กระทั่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้

แต่ภายหลังวันที่ 5 มิถุนายนเป็นต้นมา การ”โบ้ย”เช่นนั้นเริ่มลำบาก

เพราะปัญหาแท้จริงคือปัญหาของ”พลังประชารัฐ”ไม่มีอื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน