คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเอสดีเอสเอ็น จากความริเริ่มของสหประชาชาติ เพิ่งเผยแพร่ผลการสำรวจและจัดอันดับประเทศในรายงานความสุขโลกประจำ ปี 2560 จำนวน 155 ประเทศ ซึ่งจัดทำขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ซึ่งค่อนข้างดี

สอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักข่าว บลูมเบิร์ก ในเรื่องดัชนีความทุกข์ยากปี 2560 ที่ไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน อ้างอิงข้อมูลด้านอัตราการว่างงาน ค่าเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และความเข้มแข็งของตลาดแรงงาน

ส่วนการจัดอันดับของเอสดีเอสเอ็นวัดตามมั่งคั่งที่ทั่วถึงเท่าเทียมกับสุขภาพที่ดี และทุนทางสังคม ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ และความเชื่อมั่นในรัฐบาลสูง

คณะทำงานของเอสดีเอสเอ็นระบุถึงวัตถุประสงค์ของรายงานความสุขโลกว่าเพื่อช่วยให้รัฐบาล ธุรกิจ และภาคประชาสังคมมีเครื่องมือเพิ่มขึ้นในการหาทางพัฒนาให้พลเมืองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อพิจารณา 10 อันดับแรกของรายงานฉบับนี้ น่าสังเกตว่าล้วนเป็นประเทศประชาธิปไตย ได้แก่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสวีเดน

โดยใช้เกณฑ์วัดจากจีดีพี สุขภาพและอายุขัยของคนในประเทศ ความมีอิสรภาพ ความเอื้ออาทร การสนับสนุนของสังคม และการทุจริตของภาครัฐและภาคธุรกิจ

อันเป็นปัจจัยสอดคล้องกับการบริหารด้วยระบอบประชาธิปไตย

การจัดอันดับขององค์กรระหว่างประเทศอาจเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บ่งบอกสถานการณ์ในสังคม โดยพิจารณาหลักเกณฑ์ไปตามที่ตั้งไว้ เช่น ปัจจัยทางเศรษฐกิจ หรือตัวเลขวัดผลทางสังคม อายุประชากร สวัสดิการต่างๆ ฯลฯ

แต่การมุ่งมั่นจะเพิ่มอันดับคะแนนเพื่อให้ประเทศดูดีมีชื่อเสียงนั้น ควรต้องพิจารณาโดยสภาพความจริงเป็นสำคัญด้วย

แนวทางการเร่งออกกฎหมายเพื่อจะให้ทันก่อนองค์กรต่างๆ จะสำรวจและเก็บคะแนน โดยหวังผลให้อันดับของประเทศทันสำหรับการประกาศผลนั้น อาจไม่ตอบสนองการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างตรงจุดและอาจไม่สะท้อนสถานการณ์อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน