ถือหุ้นสื่อ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ถือหุ้นสื่อ – การต่อสู้ทางการเมืองว่าด้วยเรื่องการถือหุ้นสื่อ เข้าสู่กระบวนการที่น่าจับตาในสัปดาห์นี้ หลังจากพรรคอนาคตใหม่ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยกรณีการถือครองหุ้นสื่อของ ส.ส. 41 คนจากพรรคฝ่ายรัฐบาล

พร้อมหลักฐานประกอบคำร้องเป็นหนังสือบริคณห์สนธิ จดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ประธานสภาผู้แทนฯ และเรื่องส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา ต้องดูขั้นต่อไป ส.ส.ดังกล่าวอาจต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เหมือนกับกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่

สําหรับส.ส.ที่ถูกร้องครั้งนี้ จำนวน 27 คน จาก 41 คน เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลในอัตราส่วนสูงสุด

พรรคพลังประชารัฐพยายามต่อสู้ ด้วยการยื่นศาลเพื่อให้จำหน่ายคดี อีกทั้งยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หากศาลมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา เพื่อที่ส.ส.จะได้ไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของสภาและรัฐบาล

แต่หากเทียบเคียงกับกรณีนายธนาธร ศาลให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ด้วยเห็นว่า หากปล่อยให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางกฎหมายและการดำเนินงานที่สำคัญในการประชุมสภา

การเทียบเคียงนี้จะมีผลอย่างยิ่งให้ประชาชนจับตา ถึงบรรทัดฐานความเท่าเทียม

ไม่เพียงปมส.ส.ถือครองหุ้นสื่อเท่านั้น ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนให้กกต. ตรวจสอบส.ว. จำนวน 21 คน กรณีถือหุ้นสื่อเช่นกัน

บรรดาส.ว.ที่ถูกร้องเหล่านี้ มีข้อสังเกตว่าควรต้องโอนหุ้นเมื่อได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการสรรหา ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อเวลากรอกข้อความในหนังสือรับรองตนเองว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

การกล่าวอ้างว่า สมาชิกส.ว.ที่ถือหุ้นในบริษัทใหญ่ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องการดำเนินธุรกิจสื่อนั้นเป็นเรื่องที่อาจเข้าใจกันเองได้

แต่เมื่อเกิดกรณีนายธนาธรแล้ว คนอื่นๆ ที่ถูกร้องเรียนจึงไม่ควรพ้นการถูกตรวจสอบในลักษณะเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน