บังเอิญไม่เท่าเทียม

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

บังเอิญไม่เท่าเทียม – ความไม่เท่าเทียมยังคงเป็นคำถามใหญ่ในสถานการณ์ ทางการเมือง นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารที่มีกฎหมายพิเศษก่อให้เกิดการตีความเป็น ไปในแนวทางที่ผู้ใช้อำนาจมีความได้เปรียบ

บุคคลที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกรุกล้ำสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตยเป็นผู้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านการรัฐประหาร

ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งก็เกิดสูตรการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบแปลกให้ประชาชนงงงัน

ตามด้วยการทำให้หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แกนนำรวมฝ่ายค้าน ต้องยุติการทำหน้าที่ส.ส. จากกรณีถูกร้องเรียนว่าถือหุ้นสื่อ

ด้วยกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินอย่างรวดเร็ว

ไม่นานมานี้เกิดกรณีใหม่ให้ประชาชนสงสัยอีก ครั้ง เมื่ออัยการสั่งฟ้องแกนนำกลุ่มนปช. ฐานมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ผู้ประท้วงบุกการประชุมอาเซียน เมื่อปี 2552 ที่พัทยา โดยสั่งฟ้องได้ทันคดีหมดอายุความ วันที่ 11 เม.ย.2562

แต่เหลือแกนนำคนเดียวที่ไม่ถูกฟ้อง ด้วยความบังเอิญว่า ผู้ถูกฟ้องขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งเพราะไปตรงกับการออกหาเสียงปราศรัยเลือกตั้ง พอดี

จากนั้นเมื่ออัยการมีหนังสือด่วนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการจับกุม แต่บังเอิญเจ้าหน้าที่ทำไม่ทัน จนคดีหมดอายุความ

เมื่ออายุความสิ้นสุดลงจึงไม่สามารถที่จะนำคดีเดิมมาฟ้องดำเนินคดีใหม่ได้

กรณีหลังนี้ดูเป็นเรื่องโจ่งแจ้งและทำให้คำถามที่มีอยู่เป็นคำถามที่ใหญ่ยิ่งขึ้น

แม้ผู้หลุดพ้นคดีให้ความเห็นว่าทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่มีอภิสิทธิ์ชน และไม่ควรนำเรื่องกฎหมายมาเชื่อมโยงกับการเมือง

คำกล่าวอ้างนี้รวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษากฎหมายกลับไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ชัดเจนว่า เหตุใดความไม่เท่าเทียมนี้จึงเกิดขึ้นได้

ความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ เป็นเหตุสุดวิสัย หรือเพราะเลือกอยู่ฝ่ายที่ได้เปรียบ

กรณีนี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบให้ได้ อย่างตรงไปตรงมา เพราะความยุติธรรมที่เกิดจากกฎหมายต้องมีความเท่าเทียม เป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ

ไม่อาจรอความบังเอิญ หรือปล่อยให้ความบังเอิญมาทำลายความยุติธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน