ปมถือหุ้นสื่อ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ปมถือหุ้นสื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งเรื่องขอให้วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของส..จำนวน 32 คน สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่

จากคำร้องที่ยื่นให้วินิจฉัยจำนวน 41 คน โดยเห็นว่ามี 9 คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ที่จะเป็นลักษณะเป็นเหตุให้หมดสมาชิกภาพ

คำร้องลักษณะนี้ ปรากฏว่ามีการยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้พิจารณาไต่สวนสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 21 คนและส่งเรื่องให้ศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดสมาชิกภาพหรือไม่ด้วย

อีกทั้งก่อนหน้านี้ ศาลฎีกามีคำวินิจฉัย ให้ผู้สมัครส..จำนวน 2 คนขาดคุณสมบัติ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ส..ยุติการทำหน้าที่ 1 ราย

ประเด็นการถือหุ้นสื่อสารมวลชน ซึ่งเข้าข่ายขาดคุณสมบัติสมาชิกรัฐสภานั้น หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกยื่นร้องให้กกต.ไต่สวนจนนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังที่ทราบกัน

ในเร็วๆนี้ ก็คงจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ถูกยื่นร้องบ้าง ซึ่งฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐเตรียมรายชื่อไว้จำนวน 33 คน จากเดิมที่วางไว้ 55 คน

การพิจารณาวินิจฉัยจะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงมีแนวทางดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญมีมติไว้ แต่อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป

แต่นักนิติศาสตร์บางคนมองว่าเป็นเรื่องของกฎหมายที่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม หลังจากประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องร้อนและลุกลามไปทั้งรัฐสภา อีกทั้งทำท่าจะมีการฟ้องร้องตามมาอีกหลายคดี และอาจจะมีคำร้องที่คั่งค้างการพิจารณาขององค์กรอิสระ ซึ่งอาจส่งผลต่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาในอนาคต

ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ตลอดจนสมาชิกวุฒิสภาสมควรจะหารือร่วมกันหรือไม่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวมานี้ เป็นเพราะกฎหมายไม่ชัดเจน ครอบคลุมจนไม่จำเพาะเจาะจงหรือไม่ หรือเป็นเพราะสาเหตุใด

โดยเฉพาะหนังสือบริคณห์สนธิ ตราสารการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่กำหนดขอบเขตไว้กว้างเกินไป จนกลายเป็นปมปัญหา เพราะบางรายก็ไม่ได้ทำสื่อจริงดังที่ข้อกำหนดระบุไว้

สมควรจะร่วมกันหาทางออกแทนที่จะใช้ห้ำหั่นกันดีกว่าหรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน