ค่าเงินบาท

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ค่าเงินบาท – ผลการประชุมซัมมิต จี 20 ที่จีนกับสหรัฐอเมริกาหาทางออกร่วมกันได้ว่าจะเริ่มเจรจาการค้ากันใหม่ ทำให้ความวิตกสงครามการค้าของชาติมหาอำนาจคลี่คลายลงไปส่วนหนึ่ง

ส่วนของไทย คาดการณ์ว่าถ้าสถานการณ์ผ่อนคลายลงได้ การส่งออกจะมีโอกาสขยายตัวได้ร้อยละ 1-2

อย่างไรก็ตาม เฉพาะตัวเลขการส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) ออกมาไม่สู้ดีนัก

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 14.8 และมูลค่าลดลงร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 คิดเป็นปริมาณ 3,779,313 ตัน มูลค่า 62,418 ล้านบาท

เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี ทำให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยและประเทศคู่แข่งมากขึ้น

ปัจจัยค่าเงินดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกกังวลอันดับต้นๆ เนื่องจากค่าเงินแข็งค่าขึ้น จากเดิมเฉลี่ยอยู่ในระดับประมาณ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐและคงอยู่ระดับนี้มานานกว่าหนึ่งปีแล้ว

ผู้ประกอบการต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ด้วยค่าเงินดังกล่าว ทำให้ผู้ส่งออกของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง

หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณ ไม่ขึ้นดอกเบี้ยและมีแนวโน้มอาจปรับลดดอกเบี้ยลง จึงจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้

ภาพรวมการส่งออกและอัตราการขยายทางเศรษฐกิจของประเทศจะลดลงจากที่คาดไว้

ด้านการท่องเที่ยว ททท.ได้ปรับเป้าคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวปี 2562 ลดลงทั้งปี 20,000 ล้านบาท

จากเป้าเดิม 3.4 ล้านล้านบาทเหลือ 3.38 บ้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.21 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลจากสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ว่าสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในปัจจุบันได้ส่งผลบวกต่อตลาดนักท่องเที่ยวขาออก

ยอดจองช่วงครึ่งหลังของปี 2562 พบว่าคนไทยจองแพ็กเกจไปท่องเที่ยวยุโรปสูงขึ้นร้อยละ 10-20 ส่วนตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงถึง 1.2 ล้านคน มากกว่าสถิติ 1 ล้านคนของปีที่แล้ว

ค่าเงินจึงเป็นปัจจัยตัดสินเศรษฐกิจในนาทีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน