แถลงการณ์ของกลุ่มสามมิตรที่เรียกร้องให้ตำแหน่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเท่านั้น มิใช่ตำแหน่งอื่น

เป็นแถลงการณ์อันดำรงลักษณะเป็นเหมือน”คำขาด”อย่างเด่นชัดยิ่ง

เป็นคำขาดอัน นายอนุชา นาคาศัย เป็นคนอ่าน

โดยมี 30 ส.ส.ซึ่งรวมทั้ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นั่งเป็นพระอันดับ

มิได้เป็นคำขาดต่อ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค

หากเป็นคำขาดอันยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรงตัว

ไม่อ้อมค้อม ไม่วกวน

หากมองจากสถานะแห่งหัวหน้าคสช.อัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แถลงการณ์นี้ถือได้ว่าท้าทาย

ลองนึกดูว่า ถ้าเป็นในห้วง 4 ปีแรกภายหลังรัฐประหาร ส.ส.ในกลุ่มสามมิตรจะกล้าหาญชาญชัยอย่างนี้หรือไม่

ยากอย่างชนิด “ยากส์” อย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

ต้องยอมรับว่า นี่เป็นอำนาจอันพวกเขาได้มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม รูปธรรมก็คือในจำนวน 116 ส.ส.ที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ พวกเขามีอยู่ 31 คน

เพราะ 31 คนที่เคยขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นแหละพวกเขาจึงกล้าหาญชาญชัย

ประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมองเห็นคุณค่า

โดยเฉพาะคุณค่าของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในสถานะอัน เหมาะสมในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

เป็นการทดสอบ”อำนาจ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วินาทีนับแต่นี้เป็นต้นไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงอยู่ในแท่นแห่งการท้าทายอันแหลมคมยิ่ง ไม่ว่าจะมองจากด้านการทหาร ไม่ว่าจะมองจากด้านการเมือง

ความหมายก็คือ เป็นอำนาจที่เหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเดิม

เหมือนเดิมคือที่ได้มาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่เหมือนเดิมคือแปรเปลี่ยนหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

บทบาทของ”กลุ่มสามมิตร” คือ หินลองทองคมแหลม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน