คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การเปิดรับฟังความเห็นตัวแทนภาคประชาสังคมของคณะอนุกรรมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในสัปดาห์นี้ คณะผู้จัดแจ้งว่าภาพรวมบรรยากาศเป็นไปด้วยดี และสร้างสรรค์

หลังสรุปว่าทุกองค์กรมีความเข้าใจและมองเรื่องปรองดองว่าทุกฝ่ายต้องเป็นกลาง เปิดใจตัวเองโดยไม่มีอคติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ

พร้อมให้แนวคิดว่าการแก้ปัญหาจำเป็นแก้ที่คน เน้นการศึกษา กระตุ้นจิตสำนึก ยอมรับสิทธิผู้อื่น ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาแต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง

ส่วนความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจ ให้อภัยกัน และสร้างความไว้ใจต่อกัน

ที่น่าสนใจคือการสรุปความเห็นจากการรับฟังว่า สังคมยังมีปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางจิตใจ

ความรุนแรงทางจิตใจดังกล่าวยังไม่มีคำอธิบายละเอียดนัก แต่จากข้อมูลของสถาบันการศึกษาเรื่องนี้ระบุว่า มาจากการใช้คำพูด กิริยา หรือการกระทำที่เป็นการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ด่าว่าให้อับอาย กลั่นแกล้งทรมานให้เจ็บช้ำน้ำใจ

นอกจากนี้ยังหมายถึงการบังคับ ข่มขู่ กักขัง ควบคุม ไม่ให้แสดงความคิดเห็น การเลือกปฏิบัติ การเอารัดเอาเปรียบ การตักตวงผลประโยชน์ การถูกทอดทิ้ง เป็นต้น

หากคำจำกัดความเป็นไปตามนี้ สะท้อนว่าการสร้างความปรองดองที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนนี้ต้องอาศัยการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ เคารพกติกา และมีความยุติธรรมสูงอย่างยิ่ง

คำถามคือสังคมจะไปสู่ขั้นตอนนี้ได้อย่างไร

ในข้อเสนอของกลุ่มประชาสังคมคือรัฐต้องให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสเท่าเทียมกัน พร้อมสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้ตระหนักประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

ส่วนคณะกรรมการปรองดองมุ่งมั่นว่า กระบวนการนี้ประชาชนส่วนใหญ่จะต้องได้รับประโยชน์ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งหมดไปและอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงการเลือกตั้ง ทางคณะกลับสรุปว่า เป็นเพียงกระแสสังคมที่พูดกันไปเอง

มุมมองดังกล่าวนี้จึงเป็นเรื่องต้องระวังและใส่ใจมากขึ้น เพราะความจริงแล้วหากเคารพในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงทางจิตใจลงได้

อีกทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาประเทศด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน