คอลัมน์ รายงานพิเศษ

โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีน ของกองทัพเรือเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ปี 2558 จนกระทรวงกลาโหมสั่งชะลอโครงการในขณะนั้นเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับ ภาคประชาชน

ล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบกรอบวงเงิน งบประมาณการจัดซื้อแล้ว และกำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี(ครม.)

โดยจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) จำนวน 3 ลำ วงเงิน 36,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 จะจัดซื้อ 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ลำใช้วิธีก่อหนี้ผูกพันข้ามปี

แต่สังคมยังเคลือบแคลงสงสัย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) จึงประกาศเข้ามาตรวจสอบว่ามีความโปร่งใสหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยืนยันว่าคุ้มค่าและจำเป็นต้องมี

1. พล.ร.อ.สุริยะ พรสุริยะ

อดีตผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ

หากมองด้านความมั่นคง และการระวังป้องกันภัยคุกคามทางทะเล และเพื่อเป็นการดูแลผลประโยชน์ทางทะเลให้กับประเทศ ได้ปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท เรือดำน้ำเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุด เพราะสามารถหายตัวได้ พรางตัวอยู่ใต้น้ำ หลบหลีกการตรวจจับได้ กองทัพเรือในแต่ละประเทศ ก็อยากมียุทโธปกรณ์นี้มาก

ทะเลอ่าวไทยมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ล่อแหลมจากการที่จะ ถูกปิดอ่าวมาก ไม่ใช่ว่าใครจะนำเรือมาปิดอ่าวไทย แต่หากมีการประกาศปิดอ่าวเราก็เดือดร้อนแล้ว เพราะประเทศไทยมีการขนส่งสินค้า อาทิ น้ำมัน เครื่องอุปโภค บริโภค ทางทะเลอ่าวไทยมูลค่าหลายล้านล้านบาท

ฉะนั้นกองทัพเรือจำเป็นต้องเตรียมกำลังให้พร้อม เพื่อขัดขวางการถูกปิดอ่าว และการดูแลผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และเส้นทางคมนาคมเศรษฐกิจทางทะเล

จะเห็นว่าในประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ประเทศไทยถูกพันธมิตรปิดอ่าว ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเป็นอย่างมาก กองทัพเรือจึงได้นำประวัติศาสตร์นี้มาเป็นบทเรียน และมีการ เตรียมกำลังความพร้อมทางทะเลมาตลอดเพื่อป้องกันระวังภัย

หากมองว่าการใช้เรือผิวน้ำ และกำลังทางอากาศ มาป้องกันการปิดอ่าว หรือดูแลผลประโยชน์ทางทะเล ปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว โลกพัฒนาไปมาก เพื่อนบ้านรอบประเทศไทยมีเรือดำน้ำประจำการเกือบทุกประเทศ ถึงแม้ว่าในวันนี้ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่ แต่ความเปลี่ยนแปลงสามารถเป็นไปได้เพียงชั่วข้ามคืน เราจึงต้อง มีความพร้อมตลอดเวลา

การต่อเรือดำน้ำต้องใช้เวลา 5-7 ปี จากนั้นต้องมาฝึกกำลังพล ให้มีความเชี่ยวชาญชำนาญการใช้อีกหลายปี

การซื้อเรือดำน้ำนั้นหลายประเทศพร้อมที่จะขายให้เรา เช่น เยอรมัน สวีเดน ฝรั่งเศส รัฐเซีย และจีน ซึ่งเรือดำน้ำแต่ละประเทศมีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาแล้วข้อเสนอขายของจีนคุ้มค่าเงินที่สุด

อย่างที่นายกฯให้สัมภาษณ์ว่าซื้อ 2 แถม 1 ลำ พร้อมอะไหล่ซ่อมบำรุง 8 ปี อาวุธประจำเรือทั้งหมดทุกมิติ ซึ่งจำนวนเรือมีความสำคัญมาก เพราะสามารถสลับสับเปลี่ยนการออกไปใช้งาน เนื่องจากมีช่วงเวลาซ่อมบำรุง เรือเตรียมพร้อม เรือพัก เรือทำงาน ในแง่ทางยุทธศาสตร์ ทำให้มีเรือดำน้ำที่ปฏิบัติการได้ตลอดเวลา

ภัยคุกคามต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทางทะเล ต้องมีความระมัดระวังและเกรงกลัวมากขึ้น เพราะมีตาที่มองไม่เห็นคอยสอดส่องตลอดเวลา

เรือดำน้ำที่จะซื้อจากจีนนั้น กองทัพเรือจีนมีประจำการอยู่กว่า 10 ลำ ถือว่าเป็นประโยชน์กับเราเพราะอะไหล่ที่สำคัญๆ สามารถใช้ร่วมกันได้ เราสามารถส่งกำลังพลไปฝึกกับเรือดำน้ำจีนได้เลยหลังเซ็นสัญญาซื้อ-ขาย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ถ้าเราซื้อจากเขา ต้องรอให้ต่อเรือดำน้ำ เสร็จก่อนแล้วถึงส่งคนไปฝึกได้

ส่วนความเข้าใจของสังคมในขณะนี้ยังเข้าใจไม่ลึกซึ้ง บางครั้งอาจมีผู้ไม่หวังดี หรือไม่ชอบอาวุธของจีน คอยนั่งเป่าหู บิดเบือนอยู่ตลอด ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

การจัดซื้อเรือดำน้ำในขณะนี้มองว่าเหมาะสมแล้ว และทุกอย่างเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยิ่งเป็นการจัดซื้อแบบพิเศษ ตรวจสอบได้ ไม่ใช่มาประกวดราคาดูว่าใครเสนอถูกที่สุด เป็นเรื่องการพิจารณา จัดซื้อแบบภาพรวม และสิ่งไหนคุ้มค่าที่สุด ทั้งด้านยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี รวมถึงการ ซ่อมบำรุงต่างๆ

ส่วนการที่สตง. เข้ามาตรวจถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่มีอะไรผิดปกติ

2. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร

อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

การประเมินก่อนการซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ต้องเริ่มดูจากปัจจัยของภัยคุกคาม ซึ่งกรณีการซื้อเรือดำน้ำ YUAN Class ของจีน 3 ลำ สังคมเกิดความกังขาในจุดนี้

มีการตั้งคำถามว่า เรือดำน้ำจำเป็นหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน หากเทียบกับภัยคุกคามที่ไทยเสี่ยงต้องเผชิญอย่างการก่อการร้ายมากกว่า โดยมาตรการรับมือ จะเน้นที่หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจขนาดเล็ก เคลื่อนที่เร็วเป็นหลัก ไม่ใช่ยุทธภัณฑ์เหมือนสงคราม

เรือดำน้ำจำเป็นสำหรับทะเลฝั่งอันดามัน แต่ถ้าอ่าวไทยเลิกพูดถึงได้เลย และหากดูตามยุทธศาสตร์ เราเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพเพื่อนบ้าน หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพอาวุธใหม่ก็ไม่มีความจำเป็น

ขณะเดียวกัน เข้าใจความต้องการของ กองทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ว่า ต้องการมีคุณลักษณะทางการทหาร ครบทุกมิติ อย่างกองทัพเรือเองต้องป้องกันประเทศในทุกมิติ ทั้งน่านน้ำ ชายฝั่ง และอากาศ

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความจำเป็นเร่งด่วน โดยประเมินจากสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าหากไม่แข็งแรงพอ ก็ควรดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็น เช่น เครื่องแบบ 3 ฤดู หากเศรษฐกิจไม่ดี ก็เอาแค่เครื่องแบบฤดูร้อน และฝนไปก่อน ส่วนของฤดูหนาวค่อยจัดซื้อภายหลัง

ต่อมาการประเมินคุณลักษณะ ในแง่ ความคุ้มค่า น่าเชื่อถือ เป็นอีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเลือกใช้ของค่ายจีน ซึ่งสังคมตั้งคำถามในจุดนี้อีกเช่นกัน

แม้กระทรวงกลาโหมจะชี้แจงข้อดีของลักษณะการดำน้ำได้นาน แต่ข้อสังเกตก็จำเป็นต้องรับฟัง โดยเฉพาะในแง่คุณภาพ ที่มีตัวอย่างจากรถถังจีน คือเวลายิงต้องหยุดวิ่งก่อน อีกทั้งการ เลือกค่ายเทคโนโลยีของยุทโธปกรณ์ เพื่อนบ้านใช้ของรัสเซีย สหรัฐ เยอรมัน แต่ทำไมครั้งนี้เลือกจีน

ทำให้ต้องเกิดการวิเคราะห์อย่างระมัดระวังในทางรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อรักษาสมดุลการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับชาติมหาอำนาจ เพราะการเอนเอียง ไปหาฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมา

สำหรับการเข้ามาตรวจสอบของ สตง. คงทำได้แค่ในแง่กระบวนการความคุ้มค่าระดับหนึ่ง เพราะไม่มีองค์ความรู้เท่ากับบุคลากรของกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมา ผลคือเรามีเรือเหาะ เครื่องตรวจระเบิดจีที 200 จึงควรตรวจสอบในแง่ของความจำเป็นเร่งด่วน เป็นสำคัญด้วย

โดยเฉพาะการอนุมัติงบจ่ายไปก่อนแลกกับเรือดำน้ำ 1 ลำ แล้วจีนค่อยทยอยส่งอีก 2 ลำ ให้ภายใน 4-5 ปี ตลอดจนการต้องสร้างอู่บำรุงรักษาด้วย ระหว่างการสับเปลี่ยนหมุนเวียนออกไปปฏิบัติการ ต้องใช้งบประมาณเท่าไร เพราะนี่คือภาระรายจ่ายในอนาคต

นอกจากนี้ คือความคุ้มค่า โดยเทียบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในตอนนี้ เงินหลักหมื่นล้าน ไปใช้กับเรือดำน้ำ หรือใช้ช่วยเหลือเกษตรกรจำนวนมาก จะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่ากัน

3. พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์

อดีตส.ว.

การจัดซื้อเรือดำน้ำต้องมองว่ายุทธศาสตร์ทหารของเราจะใช้อะไร เพราะการใช้เรือดำน้ำอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถทำได้ ต้องใช้กำลังส่วนอื่นเข้ามาประกอบด้วย

ส่วนตัวยังเชื่อในเรื่องการรบร่วม คือจะใช้เรือดำน้ำร่วมกับอะไร อย่างในอ่าวไทยอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือดำน้ำในการป้องกัน เพราะเป็นอ่าวลึก จะใช้เครื่องบินตรวจการณ์ หรือใช้เรือที่ปราบเรือดำน้ำได้

เรือดำน้ำเป็นอาวุธเชิงรุกในลักษณะแอบเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ในอดีตที่ผ่านมาจะใช้ทำลายเรือพาณิชย์ในสงครามโลก เพื่อเป็นการตัดทอนภาระ แต่ของไทย ไม่แน่ใจว่ายุทธศาสตร์ทหารที่จะใช้เพื่ออะไร อาจจะมีไว้สกัดเรือดำน้ำ แต่เรือดำน้ำที่จะซื้อสมรรถนะจะต่ำกว่าสิ่งที่เข้ามาหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างละเอียด

อีกอย่างคือเรือดำน้ำเป็นลักษณะที่แปลกในชีวิตคน คนที่จะอยู่ในเรือดำน้ำได้ต้องมีการฝึกเป็นกรณีพิเศษ เราน่าจะศึกษาอดีตที่เคยมีเรือดำน้ำอยู่ 4 ลำ คนของเราจะสามารถอยู่ในน้ำได้นานเท่าไหร่ เช่น ดำ 21 วัน คนจะอยู่ไหวหรือไม่

แล้วเรือดำน้ำนี้เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก ความเป็นอยู่และความสะดวกสบายในเรือค่อนข้างน้อย ถ้าใช้ในยามสงครามจริงต้องสร้างคนที่มีความอดทนที่จะอยู่ในเรือได้ หากเกิดสงครามก็พร้อมที่จะถูกทำลาย ดังนั้นการฝึกให้คนอยู่ในเรือดำน้ำต้องฝึกพิเศษ

ส่วนกรณีที่ สตง.เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใส คงตรวจสอบได้เฉพาะเรื่องสัญญาหรือการดำเนินการ แต่เรื่องทางเทคนิคคงไม่มีความสามารถตรวจสอบได้ สตง.คงไม่เข้าใจเรื่องระบบเรือดำน้ำ เพราะรายละเอียดเยอะ แม้กระทั่งทหารเองก็ยังไม่รู้ นอกจาก คนที่ศึกษาอยู่จริงๆ

มีทหารเรือหลายคนที่เขียนในเฟซบุ๊ก บางคนบอกว่าอาจจะต้องใช้เรือดำน้ำของเยอรมัน ที่มีความแน่นอนกว่า แต่ของจีนที่ทำดีๆ ก็มี อยู่ที่ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นอย่างไร อย่างสินค้าของจีน ยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นระดับเกรดเอก็มี เป็นพรีเมียมของเขา จึงไม่แน่ใจว่า เวลาไปซื้อเราเอาพรีเมียมหรือเปล่า หรือซื้อเกรดปานกลาง

ดังนั้น กองทัพเรือเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดเองจะดีกว่า เช่น สัญญา ผลการศึกษาเรื่องการใช้งาน หรือการดำเนินการต่างๆ

เพราะต้องยอมรับว่าหลายคนยังมีความกังวลในการซื้อเรือดำน้ำ

4. สุรชาติ บำรุงสุข

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำจากจีน รัฐบาล และกองทัพเรือ พยายามต่อสู้ให้ได้เรือดำน้ำมาตั้งแต่ต้น

โดยรัฐบาลชุดนี้ได้จัดซื้อยุทโธปกรณ์มากหลายอย่าง ไม่ต่างจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่ครั้งนี้มูลค่าการจัดซื้อมากกว่าทุกครั้ง โดยเฉพาะการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ซึ่งไม่มีความชัดเจนหลายอย่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นหากไม่หลอกลวงกันเองจะพบว่า เศรษฐกิจขณะนี้ ไม่ดีนัก หากนึกถึงความคุ้มค่าประกอบกับสภาพเศรษฐกิจก็ต้อง บอกว่าไม่คุ้ม แต่หากรัฐบาลกับกองทัพเรือจะบอกว่าการจัดซื้อ เรือดำน้ำครั้งนี้ใช้งบประมาณจากฝ่ายทหาร ก็อยากให้คิดให้มากว่า ถือเป็นงบประมาณของประเทศทั้งหมดเช่นกัน

ขณะเดียวกันการใช้งบประมาณซื้อยุทโธปกรณ์ก็ไม่ได้ตอบสนองปัญหาของประเทศแต่อย่างใด และไม่เหมาะกับเงื่อนไขของประเทศ ที่จะต้องใช้ หากจะซื้อก็เป็นเพราะรัฐบาลและกองทัพเรือยืนยันว่าจะเอา

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามหารูปแบบต่างๆ มาเก็บภาษีหลายรูปแบบ เพราะภาวะเงินคงคลังประเทศไม่ดี ดังนั้น การจัดซื้ออะไรก็ตามที่มีมูลค่าสูงมากจะต้องคำนึงให้มากกว่านี้ เพราะหาก เวลาจะซื้อยุทโธปกรณ์ โดยคำนึงถึงความเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เป็นมิตรกัน ก็จะต้องซื้อไม่รู้จบ

ส่วนหากเกิดปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต คงใช้การเมืองเข้ามาแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่มาตรการทางทหารเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จะต้องมีการทบทวนชุดความคิดแบบเก่าๆ ว่าการแก้ปัญหาจะต้องแก้เฉพาะทางทหาร

สำหรับเรื่องประสิทธิภาพของเรือดำน้ำจากจีนนั้น คนที่อยู่วงนอกคงโต้แย้งเรื่องนี้ลำบาก เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ ซึ่งบางอย่างก็เป็นความลับ เรื่องประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่สื่อมวลชน และประชาชน ไม่ค่อยได้รู้หรือไม่มีข้อมูล

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ เหมือนรัฐบาลไทยส่งสัญญาณว่าพร้อมเป็นพันธมิตรกับจีนในเรื่องความมั่นคง มากกว่าชาติทางตะวันตก

ขณะที่การตรวจสอบของสตง. ไม่แน่ใจว่าจะทำได้แค่ไหน ซึ่งปัจจุบันสตง.พยายาม เข้ามามีบทบาทในทุกเรื่อง

ไม่อยากฟันธงว่าการตรวจสอบของสตง.เป็นเทคนิคในการทำให้การจัดซื้อครั้งนี้ดูดี

แต่อยากให้ตระหนักว่าสตง.ไม่ใช่ ผงซักฟอกให้รัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน