คำขู่ผ่าน”สารจากนายกรัฐมนตรี”ที่อาจนำไปสู่การใช้วิธีการแบบ เดิมเพื่อแก้ปัญหาอันเนื่องมาแต่”แถลงการณ์”จากกลุ่มสามมิตรก่อให้เกิดผลต่อเนื่องตามมามากมาย

อาจเป็นผลให้ความร้อนแรงภายในพรรคพลังประชารัฐลดระดับลงอย่างรวดเร็ว

เห็นได้จากการตั้งโต๊ะร่วมแถลงอย่างอบอุ่นระหว่าง นายอุตตม สาวนายน พร้อมกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน

มอบอำนาจในการตัดสินใจทุกอย่างให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

กระนั้น ก็ปรากฏความหงุดหงิดขึ้นภายในสังคมไทย

ความหงุดหงิดนั้นเพราะประเมินว่าคำขู่อันปรากฏผ่าน”สารจากนายกรัฐมนตรี” นั้นก็คือคำขู่ที่อาจจะกลายเป็นรัฐประหารเหมือนกับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อีก

ทั้งๆที่ปัญหาอันเกิดขึ้นมิได้มาจากองค์ประกอบอื่น หากแต่มาจากภายในพรรคพลังประชารัฐเอง

นั่นก็คือ พรรคการเมืองอื่น นักการเมืองอื่นสงบนิ่ง

ไม่ว่า 10 กว่าพรรคที่เคยขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยืนหยัดในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จึงขับเน้นให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะนำเอาวิธีการรัฐประหารมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ

นั่นก็เหมือนกับที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2501 นั่นก็เหมือนกับที่ จอมพลถนอม กิตติขจร เคยใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514

นั่นก็เท่ากับเป็นความเคยชินของ”นักรัฐประหาร”

แม้สถานการณ์ความขัดแย้งจะจบลงโดยบ่งชี้ว่าอำนาจยังเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าปัญหาเช่นเดียวกันนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

เพราะภายในพรรคพลังประชารัฐมากด้วยกลุ่มพวก

เพราะระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันต่างก็มี”วาระ”อันเป็นของตนเองอย่างแน่ชัด

เส้นทางจากนี้ไปของรัฐบาลจึงอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน