คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ไม่มีใครปฏิเสธความปรารถนาดีในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ครั้งล่าสุดของรัฐบาล ในการจัดการกับปัญหาความปลอดภัย ในการสัญจรของประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยอย่างเข้มงวดก็ดี หรือการไม่ต่อทะเบียน ให้กับยานพาหนะที่ไม่ชำระค่าปรับจากการกระทำ ผิดก็ดี

แต่เสียงส่วนใหญ่ที่สะท้อนออกมาตรงกันก็คือ ยิ่งใช้มาตรา 44 ที่เป็นกฎหมายเด็ดขาดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งสะท้อนว่ากลไกและกฎหมายตามปกติของรัฐและสังคมไทยนั้นด้อยประสิทธิภาพอย่างร้ายแรง

เมื่อเป็นเช่นนี้ถามว่าในอนาคตที่ปราศจากมาตรา 44 รัฐหรือสังคมไทย จะดูแลตัวเองอย่างไร

เมื่อเข้ามายึดอำนาจการปกครองด้วยการอ้างเหตุผลว่า ต้องการที่จะ “ปฏิรูป” สังคมไทย ให้เดินก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง และสามารถสร้างความสุขสงบให้กับคนส่วนใหญ่

ก็หมายถึงการเข้ามาทำให้ “กลไกปกติ” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม เดินไปตามทางที่ควรจะเป็น ไม่ต้องอาศัย “เครื่องมือพิเศษ” ที่ควรจะเป็นมาตรการชั่วครั้งชั่วคราว

ยิ่งพึ่งพิงอำนาจพิเศษมากขึ้นเท่าใด การจะเดิน กลับไปสู่ความเป็นปกติก็ยิ่งยากขึ้นเพียงนั้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลและคสช. คงต้องหันกลับมา พิจารณาทบทวนอย่างจริงจัง

หากมุ่งหวัง “ความปกติ” ให้เกิดขึ้น ในสังคมได้จริง

ความหวังในการพึ่งพิงมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยในการจราจรและอื่นๆ ก็ไม่ผิดกันกับความหวังในการพึ่งพิงอำนาจพิเศษเข้ามาแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ใหญ่กว่า

หากไม่เรียนรู้ที่จะแก้ไข ปรับตัว ด้วยวิธีการตามปกติ และด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากคนอื่น กลุ่มอื่น หรือเสียงส่วนใหญ่ในสังคม

ปัญหาก็จะวนเวียนอยู่เป็น “วงจรอุบาทว์” ไม่รู้จบ

ไม่พอใจการเมือง แล้วไม่แก้ไขด้วยการเมือง แต่ใช้อำนาจพิเศษเข้ามาตัดช่องตัดตอน ได้ก่อให้เกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง

มีปัญหาการปฏิบัติตามปกติ ไม่แก้ด้วยวิธีปกติ แต่เลือกใช้แนวทางอิงอำนาจเด็ดขาดเข้ามาแก้ไข ชั่วคราว

ก็มีแนวโน้มจะให้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างไปจากกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน