การเมืองใต้รธน.60 ถอย-เดินหน้า?

การเมืองใต้รธน.60 ถอย-เดินหน้า? – หมายเหตุ : คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์(มธ.) จัดงาน “รัฐธรรมนูญ 60 : 60 ปี สมคิด เลิศไพฑูรย์” จัดเสวนาหัวข้อ “การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560, ถอยหลังหรือเดินหน้า” นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ. และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เป็นวิทยากร ส่วน นายสมคิด อดีตอธิการบดี มธ. ให้สัมภาษณ์ถึงรัฐธรรมนูญ 2560 เช่นกัน ที่มธ.ท่าพระจันทร์ วันที่ 9 ก.ค.

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ส่วนตัวไม่สบายใจนักเมื่อทราบว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. จากเหตุการณ์นองเลือดปี 2535 เป็นผลสะท้อนจากการร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่ล้มเหลว สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมองว่าระบบเลือกตั้งส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่การเลือกตั้งมีแบบแบ่งเขตอย่างเดียวที่นำคะแนนทั้งหมดมาคิดเป็นที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อ

การเมืองใต้รธน.60 ถอย-เดินหน้า?

สิ่งที่เกิดขึ้น ในส่วนของตัวผู้สมัครในปี 2554 แม้จะมีเขตมากกว่าแต่ผู้สมัครแบ่งเขตมีเพียง 2,422 คน เฉลี่ยเขตละ 7-8 คน แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมามีถึง 11,128 คน เช่นเดียวกับจำนวนพรรคที่เพิ่มขึ้น จึงมีการส่งสมาชิกไปลงในหลายเขต ที่ทำให้มีปัญหาสำหรับคนที่ต้องการเลือกส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อคนละพรรคกัน

เมื่อผู้สมัครมากขึ้นและแต่ละเขตมี การจับเบอร์ใหม่ยิ่งทำให้ประชาชนสับสนเรื่องเบอร์ผู้สมัครที่ต่างกันในแต่ละเขต ผลลัพธ์คือ การเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์ กรณีต่อมาคือการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่สามารถคำนวณในรูปแบบที่เห็นต่างกันได้อีก กว่ากกต. จะประกาศผลเลือกตั้งต้องใช้เวลาถึง 45 วัน จากเดิมที่ใช้เพียงไม่เกิน 30 วัน

ตอนที่ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งคิดว่าโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯนั้นลำบาก เพราะอีกฝ่ายรวมเสียงได้แล้วเกิน 250 เสียง จนมีการตีความสูตรคำนวณส.ส.บัญชีตามมาตรา 270 จนทำให้เป็นรัฐบาล 19 พรรค และกลายเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมมากที่สุด

เช่นเดียวกับการตั้งครม. ที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนทุก 3 วัน เนื่องจาก มีเพียง 35 เก้าอี้ ที่เป็นปัญหาตลอดทั้งสมัย เพราะทุกพรรคก็อยากมีส่วนร่วม

ขณะที่ระบบการได้มาซึ่งส.ว.ที่มีการตั้ง งบไว้ 1,300 ล้าน แต่ใช้จริงเพียง 600 ล้านบาทนั้น แม้จะบอกว่าส.ว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่คสช.เป็นคนเลือกมา แล้วจะพูดได้อย่างเต็มปากหรือไม่ว่าเป็นตัวแทนของประชาชน รวมทั้งมีสิทธิเลือกนายกฯ ร่วมกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ที่มาของนายกฯ หลังเหตุการณ์พฤษภา’35 เป็นต้นมา มีการแก้รัฐธรรมนูญให้นายกฯต้องมาจากส.ส. เพราะต้องการกันทหารออกไปจากการเมือง หากผู้นำเหล่าทัพประสงค์มีอำนาจต่อต้องลงมาเลือกตั้ง จนรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ถอดหลักการนี้ทิ้งไปก่อนใส่มาตรา 88 ที่ระบุว่าสามารถให้พรรคที่มีที่นั่งมากกว่า 25 ที่นั่งเสนอชื่อได้

แต่กรณีที่ต้องติดตามดูคือการเป็นหัวหน้าคสช. นั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

และเห็นว่าตัวแทนทั้งที่มาและไม่มาจากประชาชน อย่างคสช.ควรถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ทั้ง 2 องค์กรต้องผ่านการรับรองจากส.ว. คำถามคือส.ว.มาจากใคร แล้วพวกเขาเหล่านี้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตรวจสอบหรือไม่

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

การเมืองจะเดินหน้าหรือถอยหลังขึ้นอยู่กับ เป้าหมายคืออะไร เป้าหมายคือ 1.การกำหนดอนาคตทิศทางของประเทศต้องอยู่ในมือประชาชน 2.ทำให้คนที่ใช้อำนาจยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม สุจริตตรวจสอบได้ นี่จึงเป็นเกณฑ์ชี้วัด เมื่อมองจากมุมนี้ต้องฟันธงว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้การเมืองถอยหลัง อย่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้บอกเป็นฉบับปฏิรูป แต่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

การเมืองใต้รธน.60 ถอย-เดินหน้า?

ถามว่าเป้าหมายของรัฐธรรม นูญ 2560 คืออะไร กระบวนการจัดทำไม่เคยพูดชัดว่าการจัดวางโครงสร้างทำไปเพื่ออะไร มีเพียง 2 คำคือ 1.การปฏิรูป แต่บทบัญญัติมากมาย ไม่ได้ส่งผลให้เกิดขึ้นอย่างที่คนคาดหวังเลย เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ไปส่งเสริมรัฐราชการ 2.ปราบโกง แต่ถามว่ามีอะไรที่ปราบโกงมากกว่าฉบับอื่น แต่เป็นการวางเส้นทาง วางวัตถุประสงค์ทางการเมือง ถอยหลังไปถึงรัฐธรรมนูญ 2521

ความเป็นจริงวันนี้ยิ่งชัด ประชาชนมีความรู้สึกแค่ไหนว่าเจตนารมณ์ที่แสดงออกมาผ่านการเลือกตั้งได้สะท้อนออกมาในรัฐบาลชุดต่อไป ถ้าไม่มี 250 ส.ว.มาเลือกนายกฯ รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจะประกอบด้วย 19 พรรคแบบนี้ มันไม่เป็นแบบนั้น แต่เป็นเพราะ 250 คนที่ถูกตั้งมาแล้วเลือกไปในทิศทางเดียวกันหมด

ปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ความขัดแย้งทางการเมืองยังสูงมาก หากมีการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมยังพอ เห็นโอกาสว่าบ้านเมืองจะไปข้างหน้า แต่มีปัญหา ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง มีการใช้เงินรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ซื้อเสียงกันอย่างโจ่งแจ้ง ละเอียด ถี่ รวมถึงการใช้ทรัพยากรรัฐ

ส.ส.ทุกคนในสภายืนยันได้ ไม่เพียงกติกาที่ออกแบบมาเอื้อฝ่ายหนึ่งแล้ว พฤติกรรมก็ยิ่งไปตอกย้ำสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่การร้องเรียนน่าจะชัดเจนมากเพราะมีเทคโนโลยีคอยช่วยดู แต่กลับแจกใบส้มเพียงหนึ่งใบ จึงคาดว่าไม่น่าจะมีเลือกตั้งซ่อมที่จะกระทบดุลอำนาจของรัฐบาล

มาถึงสูตรคำนวณ พรรคที่ ได้คะแนน 30,000 กลับได้ส.ส. แต่พรรคคะแนนหลักแสนไม่ได้ ต้องเอะใจได้แล้วว่ามันมีปัญหา

เสียงปริ่มน้ำในสภา จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร คำตอบส่วนหนึ่งต้องกลับมาที่รัฐธรรมนูญ แต่เราก็ยังไม่เคยนำปมความ ขัดแย้งมาคลี่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ยังปล่อยให้การเมืองเดินเหมือนเดิม ท่ามกลางความขัดแย้งที่สูงขึ้น

สุดท้ายหนีไม่พ้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือมันยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องให้เดินไปตามเส้นทาง ยิ่งลากไปความขัดแย้งก็ยิ่งสูงขึ้น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ เลือกตั้งใหม่ก็เป็นแบบนี้อีก ถ้าผู้มีอำนาจใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองมันจะยาว ปัญหาคือสังคมจะยอมรับได้แค่ไหน ถ้าไม่ได้แล้วรัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้อีกจะจบอย่างไร

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับสุดท้ายของประเทศไทย ต้องเริ่มกันใหม่อีก ต้องช่วยสร้างแรงกดดันให้ผู้อำนาจเห็น เพื่อคลายอำนาจให้บ้านเมืองเดินหน้า

อุดม รัฐอมฤต

ที่หลายคนสงสัยว่าผู้ร่างต้องการทำให้ถอยหลังหรือไม่ ต้องเรียนว่าไม่มีอย่างแน่นอน รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวางร่างโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 อย่างเรื่องการคงสภาพการปกครองที่เป็นรัฐเดี่ยว และเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การเมืองใต้รธน.60 ถอย-เดินหน้า?

กรณีต่อมาคือทำอย่างไรถึงจะทำให้บ้านเมืองนี้ไม่มีการโกง หรือไม่ให้คนโกงเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้มีการพยายามล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญ ประการสุดท้ายคือให้มีการปฏิรูปบ้านเมืองในด้านต่างๆ

รัฐธรรมนูญหลายประเทศไม่มีการเขียนว่าประเทศต้องพัฒนาไปทางทิศทางไหน แต่ประเทศไทยไม่ว่ารัฐบาลไหนก็แล้วแต่ต้องมุ่งพาประเทศไปในปลายทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเขียนไว้ในแนวนโยบายแห่งรัฐว่าด้วยกฎหมายการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ หากผู้รับผิดชอบไม่ทำต้องถูกป.ป.ช.ตรวจสอบและดำเนินการ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้บอกเพียงว่าต้องมีนักการเมืองที่ดีเท่านั้น แต่เรา เชื่อว่าถ้าระบบดี ประชาชนเข้าใจระบบการเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง

ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่ศึกษามา วิธีการทำรัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยมมีทั้งประสบความสำเร็จอย่างประเทศในตะวันตก แต่เชื่อว่าถ้าดู รัฐธรรมนูญของประเทศเพื่อนบ้านเรา ไม่เชื่อว่านั่นคือประชาธิปไตย อย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตยแต่เป็นเพียงเครื่องมือ

ส่วนตัวถือว่าเมื่อใดที่มีการเลือกตั้งแล้วมีการใช้เงิน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย

สมคิด เลิศไพฑูรย์

รัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อดี โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ให้ไว้อย่างกว้างขวางในหมวดหน้าที่ของรัฐ ดีกว่ารัฐธรรมนูญหลายฉบับ ส่วนข้อด้อยอยู่ที่ส.ว.สรรหา จะโทษกรธ.ก็อาจยากเพราะกรธ.วางระบบให้มีเลือกกันเอง แต่ส.ว.สรรหามาในบทเฉพาะกาลตามผลประชามติ

การเมืองใต้รธน.60 ถอย-เดินหน้า?

ส.ว.สรรหานั้นมีปัญหาจริง แต่ระบบเลือกตั้งนั้นพูดยาก ระบบเลือกตั้งนำมาจากมลรัฐหนึ่งในเยอรมันมาใช้ก็มีปัญหาบ้าง มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ บางทีฝ่ายค้านอาจชอบก็ได้เพราะระบบเอื้อพรรคฝ่ายค้าน

ใช้บัตรใบเดียวหรือสองใบดีหรือไม่ดี ดีเบตกันได้ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือวิธีคิดคะแนน การมีพรรคที่ได้ส.ส. 26 พรรคนั้นเพราะไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำ เมืองนอกที่เราไปเอามากำหนดขั้นต่ำต้องได้คะแนนเกินร้อยละ 5 ดังนั้นถ้าเขียนจำนวนขั้นต่ำไว้น่าจะดีกว่านี้ได้

การได้มาซึ่งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำคิดว่าไม่ใช่เพราะระบบเลือกตั้งโดยตรง แต่เกิดจากพรรคสองฝั่งสู้กัน 254 เสียงกับ 246 เสียงนั้นรัฐบาลจะบริหารได้ยาก แต่ถามว่าจะให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่เร็วๆ นี้ คนไทยเอาหรือไม่เอา ส่วนตัวเชื่อว่าอายุรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะนิ่ง เปรียบเหมือนคนใกล้ตายที่ต้องต่อสู้ทุกวิถีทาง

วันนี้หลายพรรคจะแก้ไขซึ่งต้องยอมรับว่าแก้ยาก ฉบับนายมีชัยล็อกหน้าล็อกหลังเอาไว้ แล้วถามว่าการจะแก้ไขนั้นมีเอกภาพหรือไม่ ไม่ใช่แค่ฝ่ายรัฐบาลแต่ฝ่ายค้านเองที่ได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งนี้จะยอมหรือไม่ หรือหากจะแก้ไขเกี่ยวกับส.ว. ส.ว.เขาก็คงไม่เห็นด้วย

และเมื่อถึงเวลาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะมีการถกเถียงกันอีกมากว่าจะแก้ประเด็นไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน