กระบวนการสร้างความปรองดอง รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. หมายมั่นให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงในช่วงโค้งสุดท้ายของการอยู่ในอำนาจ

เริ่มมีสัญญาณขรุขระปรากฏให้เห็น

ไม่ราบรื่นเพราะความบังเอิญ หรือไม่ราบรื่นด้วยเจตนาคนบางกลุ่ม ต้องการเล่นเกมยื้อเลือกตั้งภายใต้ข้ออ้างเรื่องปฏิรูป เพื่อได้อยู่ในอำนาจต่อไป และขุดรากถอนโคนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซาก อย่างนั้นหรือไม่ เป็นเรื่องน่าติดตาม

อภินิหารทางกฎหมาย ที่รัฐบาลชุดนี้อ้างเป็นเครื่องมือในการรื้อฟื้นเรียกเก็บภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันในสังคมวงกว้าง ว่าการดำเนินการลักษณะดังกล่าว มีความชอบธรรมมากน้อยขนาดไหน

ที่สำคัญการมุ่งเอาชนะทางการเมืองโดยไม่เลือกวิธีใช้ อาจส่งผลร้ายต่อกระบวนการสร้างความปรองดองที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์กำลังทำอยู่

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าเสียดาย กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา กระบวนการสร้างความปรองดองโดยรวมถือว่ากำลังเดินหน้าไปด้วยดี

โดยเฉพาะในส่วนคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นหัวเรือใหญ่

อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และภาคประชาคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คืบหน้าไปไกลพอสมควร

พรรคใหญ่ กลางและเล็ก เข้ามาให้ข้อคิดเห็นตามคำเชิญแล้วกว่า 50 พรรค จากทั้งหมด 70 พรรค รวมทั้ง 2 กลุ่มการเมือง นปช.และกปปส. ก็เข้าให้ข้อคิดเห็นแล้วเช่นกัน

ในส่วนภูมิภาคที่มีกอ.รมน.ภาคเป็นเจ้าภาพ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครบทั้ง 76 จังหวัด เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้มาให้ความคิดเห็นรวมทั้งสิ้น 20,000 กว่าราย

ระหว่างที่อภินิหารภาษีหุ้นชินคอร์ป มีแนวโน้มว่าจะต้องไปต่อสู้และตัดสินกันในชั้นศาล อาจต้องใช้เวลาหลายปี หรือเป็นสิบปีกว่าจะได้ข้อยุติ

ก็ปรากฏอภินิหารซ้ำซ้อน เมื่อมีความพยายามใช้กรณีหุ้นชินคอร์ป เป็นโมเดลเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนักการเมือง 60 รายในสังกัดรัฐบาล 2 ชุดก่อนหน้า คือรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อ้างการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามที่ 60 นักการเมืองยื่นต่อป.ป.ช.ใน 3 ช่วงเวลา คือก่อนเข้ารับตำแหน่ง พ้นตำแหน่ง และพ้นตำแหน่ง 1 ปี

พบว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและหนี้สินลดลง เป็นเงินจำนวนมาก แต่กลับยื่นภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งทางสตง.เคยแจ้งให้กรมสรรพากรดำเนินการเมื่อปี 2558 แต่ไม่มีความคืบหน้า

กระทั่งการเมืองเข้าสู่ยุคอภินิหารทางกฎหมาย จึงสบโอกาสหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเช็กบิลย้อนหลัง ต่อยอดกรณีขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งแกนนำรัฐบาลและคสช. ต่างก็แสดงท่าทีสนับสนุนแนวทางของสตง.

ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกับ “อภินิหารภาษี” ยังเกิด “อภินิหารโกตี๋” ตามมาติดๆ

เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ร่วมกันเข้าตรวจค้นจับกุมเครือข่าย “โกตี๋” วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ แกนนำวิทยุเสื้อแดง จ.ปทุมธานี จำนวน 9 คน พร้อมอาวุธสงครามปืน ระเบิด เครื่องกระสุนจำนวนมาก

การข่าวฝ่ายความมั่นคงระบุ ส่วนหนึ่งเป็นอาวุธที่ช่วงชิงมาจากทหารในเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

นำมาสะสมซุกซ่อนไว้ เพื่อใช้ลอบสังหารบุคคลสำคัญในรัฐบาล และสร้างสถานการณ์กรณีตรวจค้น วัดพระธรรมกาย รวมถึงอาจเกี่ยวข้องกับการก่อวินาศกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้

กรณีทลายคลังแสงโกตี๋ ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย ไม่ว่าอาวุธที่ยังมีสภาพใหม่ ไปจนถึงความพยายามผูกเรื่องโยงเข้าหานายทักษิณ ชินวัตร ที่มักมีชื่อโผล่ขึ้นมาทุกครั้ง ในช่วงอำนาจขาลง

ถึงนายตำรวจใหญ่จะยืนยันว่าโกตี๋เป็นแกนนำกลุ่มเรดเรดิโอ ไม่ใช่แกนนำคนเสื้อแดงซึ่งเป็นฐานกำลังมวลชนของคนแดนไกล

แต่ปรากฏว่ามีสื่อปล่อยข้อมูลผ่านโซเชี่ยลมีเดีย กล่าวหาทักษิณอยู่เบื้องหลังชักใยโกตี๋ ทำให้ทักษิณต้องส่งทนายความเข้าแจ้งความดำเนินคดีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ ผ่านมา

ที่มีน้ำหนักเป็นไปได้อีกอย่าง คือมุมมองที่ว่า เนื่องจากข้อหาโกตี๋ ที่มีติดตัวมาแต่เดิม ไม่เข้าเงื่อนไขขอให้ประเทศเพื่อนบ้านส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย

รัฐบาลจึงต้องใช้อภินิหารออกหมายจับคดีอาญา ข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ครอบครองอาวุธสงคราม และยาเสพติด ก่อนทำเรื่องประสานทางการสปป.ลาว ให้ช่วยจับกุมส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย

ก็ต้องรอดูกันต่อไปสปป.ลาวจะว่าอย่างไร ทางการไทยจะได้ตัวโกตี๋หรือไม่ หรือว่าล้มเหลวซ้ำรอยกรณีพระธัมมชโย ที่จนป่านนี้ก็ยังแกะรอยไม่ออกว่าหลบซ่อนตัวอยู่ที่ใด

จากอภินิหารภาษีหุ้นชินฯ ตามด้วยอภินิหารภาษี 60 นักการเมือง จนมาถึงอภินิหารโกตี๋ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งทำให้กระบวนการปรองดองเกิดอาการสะดุด

ในจังหวะเดียวกับพรรคเพื่อไทย ทำจดหมายเปิดผนึก เสนอยุบเลิกคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองของพล.อ.ประวิตร

ได้แก่ คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.สส. เป็นประธาน กับคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวน การเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.เป็นประธาน

เนื่องจากขาดความเป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง

พร้อมเสนอตั้งคณะกรรมการอิสระมาจากทุกภาคส่วน เป็นกลางและเที่ยงธรรม ได้รับการยอมรับจากสังคม เข้ามาทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงต้นเหตุของปัญหาและวิธีการเยียวยาแก้ไข ขึ้นมาแทนคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด

แกนนำเพื่อไทยให้เหตุผลว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่หลังจากนั้นคือ ขั้นตอนการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมทั้งขั้นตอนการจัดทำข้อเสนอ

หากกระทำโดยคนที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหาร เกรงว่าจะไม่บูรณาการจริง อาจมีการจัดทำข้อเสนอเฉพาะในส่วนที่ฝ่ายรัฐบาลทหารได้ประโยชน์ ส่วนข้อเสนอฝ่ายเห็นต่างถูกตัดออกไป

แน่นอนว่าข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย นอกจากไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจ ยังถูกมองว่าจ้องปัดแข้งปัดขากระบวนการปรองดองที่กำลังเดินไปด้วยดี

ทั้งหมดนำมาสู่คำตอบสุดท้าย ที่ทุกคนไม่อยากได้ยิน นั่นก็คือหากกระบวนการปรองดองเดินหน้าต่อไม่ได้ ก็เข้าเงื่อนไขความจำเป็น

ต้องขยับโรดแม็ปเลือกตั้งออกไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน