‘การบ้าน’กระทรวงเศรษฐกิจ ภารกิจแรก‘รัฐมนตรี’ชุดใหม่

‘การบ้าน’กระทรวงเศรษฐกิจ ภารกิจแรก‘รัฐมนตรี’ชุดใหม่ : รายงานพิเศษ – การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ในครม. ‘ประยุทธ์ 2’ มีหลายกระทรวงโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจถูกจับตาเป็นพิเศษ เนื่องเพราะในช่วงเวลานี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาหลายหลากที่ประเดประดังเข้ามา

ไปดูกันว่ามี ‘การบ้าน’ อะไรบ้างที่รัฐมนตรีใหม่ต้องเร่งสะสางหรือตัดสินใจ ในกระทรวงเศรษฐกิจหลักๆ ประกอบด้วย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

เริ่มกันที่พาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เตรียมรายงานการทำงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์สินค้าเกษตร การส่งออก การเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้า รวมถึงสิทธิบัตรต่างๆ เพื่อให้รัฐมนตรีทราบ และได้ให้กรมต่างๆ เตรียมข้อมูลไว้แล้ว

ขณะที่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) ระบุว่าภารกิจสำคัญที่รมว.พาณิชย์ ต้องมีบทบาทคือการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจาการค้าและเศรษฐกิจในประเด็นต่างๆ เช่น การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) มีเป้าหมายให้ได้ข้อสรุปให้ได้ในปีนี้ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเดือนพ.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ

ความตกลงอาร์เซ็ป เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าระหว่างประเทศของสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ ท่ามกลางวิกฤตสงครามการค้า รวมทั้งการเจรจาด้านการเขตเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ เพื่อให้ไทยไม่ตกขบวนการค้าโลก

กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ส่งเสริมการค้าชายแดน ผ่านแดน ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น การเปิดด่านชายแดนเพิ่มขึ้น สนับสนุนการสร้างเครือข่าย ผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียนได้ทำการค้าร่วมกันได้สะดวกขึ้น ผ่านโครงการ ‘YEN-D’(Young Entrepreneur Network Development Program) ซึ่งเป็นโครงการสร้างเครือข่าย ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกภายใต้สิทธิต่างๆได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น สิทธิพิเศษด้านภาษี (จีเอสพี) เขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

กรมการค้าภายใน (คน.) เดินหน้าแก้ไขปัญหาปากท้อง ด้วยการเดินหน้าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ทั้งร้านแบบติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) และแบบใช้แอพพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” ป้องกันและแก้ไขราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะข้าว ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เข้าทำงานจะหยิบยกเรื่องปัญหาราคาสินค้าเกษตรขึ้นมาเสนอเพื่อหารือถึงนโยบายแก้ปัญหา สินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กุ้ง เป็นต้น

ยางพาราจากราคาที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องและยังมีราคาที่ผันผวน ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนข้าว บริหารจัดการภายใต้คณะกรรมการข้าวครบวงจร ที่ทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ผลผลิตที่ได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ตั้งเป้าหมายเพื่อลดส่วนเกินผลผลิตที่ส่งผลให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำเพื่อพัฒนาคุณภาพของข้าว และสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น

ในส่วนราคาสินค้าเกษตรต้องเสนอรัฐมนตรีใหม่เร่งด่วน รวมทั้งเรื่องของสถานการณ์แล้ง ที่อาจจะทวีความรุนแรงในระยะต่อไป แต่ต้องดูว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะแล้งที่ใกล้จะมาถึงนี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าอยู่ระหว่างรวบรวมโครงการที่ยังรอการอนุมัติ สรุปเสนอให้รมว.คมนาคม และรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา ส่วนใหญ่เกี่ยวกับระบบรางซึ่งรัฐบาลและพรรคร่วมต้องการเร่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งงานถูกบรรจุเป็นนโยบายชาติ และแผนแม่บทหมดอยู่แล้ว

ประกอบด้วยรถไฟทางคู่, รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ รวมการเดินรถทั้งระบบ, รถไฟฟ้าสาย สีม่วง ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, รถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3, จัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำ บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (เอ็มอาร์โอ)

กระทรวงการคลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งจัดทำข้อมูลทางเศรษฐกิจ วงเงินงบประมาณ มาตรการดูแลเศรษฐกิจเพื่อเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา

แนวทางเบื้องต้นกระทรวงการคลังมีงบประมาณ 1 แสนล้านบาท นำมาจากงบกลางและงบส่วนอื่นเพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้กลุ่มธุรกิจภาคเอกชนมีความเข้มแข็ง และอีกกลุ่มเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ดูแลพืชไร่ที่ประสบปัญหากำลังซื้อ

ขณะเดียวกัน สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง กำลังมีการจัดเตรียมงบประมาณ ซึ่งการเปิดช่องให้รัฐบาลใหม่ สามารถใช้งบประมาณลับตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งเรียกว่า เงินทุนสํารองจ่าย ที่ให้อำนาจครม.อนุมัติใช้ได้อีก 50,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในกรณีที่มีความจําเป็นและเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างเตรียมเปิดขึ้นทะเบียนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน รอบ 2 ซึ่งโครงการบัตรคนจนเดิมจะครบกำหนดในสิ้นปี 2562 นี้ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิ์ จากปัจจุบันกว่า 14.5 ล้านราย ให้เหลือไม่เกิน 10 ล้านราย แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ ต้องการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือกลุ่มใดบ้าง

ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า อยากให้รัฐมนตรีคนใหม่ ดูแลข้าราชการทุกกรม ทีมบริหารและพนักงานหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้อยากให้ปรับแผนดำเนินงานในระยะสั้น-ระยะยาวให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) ที่จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี : EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(เออีดีพี : AEDP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง

รวมทั้งอยากให้สานต่อโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ภาคประชาชนที่เปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งในอนาคตจะรับซื้อถึง 10,000 เมกะวัตต์ ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าในอนาคตไม่แพงขึ้น

ปิดท้ายที่กระทรวงอุตสาหกรรม ภารกิจหลักที่นำเสนอรมต.ใหม่ ไม่พ้นขับเคลื่อนนโยบายไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เป็นแกนหลักในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ไม่เพียงเฉพาะส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, การแปรรูปอาหาร, ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, การแพทย์ครบวงจร, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และดิจิตอล

ทั้งหมดนั้นคือ ‘การบ้าน’ เบื้องต้น ที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงต้องเข้ามาตัดสินใจ และบริหารจัดการในทันทีที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน