พิษตกค้าง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

พิษตกค้าง – แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และอำนาจตามมาตรา 44 ในมือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีจะหมดลง และมีประกาศยกเลิกประกาศคสช.และคำสั่ง หัวหน้าคสช.ไปจำนวนมาก

แต่ก็มีบางประกาศและคำสั่งยังคงอยู่ต่อไปตามมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือคสช.ที่ 61/2560 ที่ให้อำนาจกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นผู้ดำเนินการ

นั่นคือมีอำนาจในการประเมินภัยคุกคามต่างๆที่เห็นว่าขัดต่อความมั่นคงภายใน โดยเรียกประชุมร่วมเพื่อเรียกเอกสารหรือบุคคลต่างๆมาให้ข้อมูล รวมถึงเข้าไปพบบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายได้

จะเห็นได้ว่า ขัดต่อการตรวจสอบและถ่วงดุลตามกระบวนการยุติธรรม

กรณีดังกล่าว โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้ออกมาปฏิเสธว่าคสช.ไม่ได้โอนอำนาจในการเรียกตัวบุคคลมาปรับทัศนคติ หรืออำนาจตรวจค้นเคหสถานมาให้แต่อย่างใด

แต่กอ.รมน.มีอำนาจและหน้าที่ตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในการดูแลความเรียบร้อย เมื่อมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงเกิดขึ้น

โดยจะต้องประกาศเป็นพื้นที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 15 เมื่อมีการประกาศแล้วจะต้องใช้กำลังตามมาตรา 16 ขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น

ถ้าเป็นเช่นดังที่ชี้แจงมา ก็ได้หวังว่ากอ.รมน.จะใช้กฎหมายไปในทางที่เป็นคุณ

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศชาติเข้าสู่ความเป็นปกติ มีความเป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิและเสรีภาพเป็นสำคัญ จึงไม่สมควรมีบทบัญญัติหรือกฎหมายใดๆที่ขัดต่อหลักการดังกล่าว

รวมถึงบทบัญญัติที่รองรับการกระทำและให้การกระทำใดๆของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ให้เป็นเรื่องถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมายด้วย

เพื่อให้เป็นไปตามนั้น สภาผู้แทนราษฎร น่าจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาผลกระทบจากคำสั่ง ประกาศ และคำสั่งหัวหน้าคสช.ด้วยก็จะเป็นคุณกับประชาชนอย่างยิ่ง รวมถึงออกกฎหมายยกเลิกไปในที่สุด เพื่อไม่ให้พิษจากรัฐประหารตกค้าง

โดยเฉพาะคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว ซึ่งยังคงอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน