รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เดือดตั้งแต่ยกแรก

คสช.สิ้นสภาพ อำนาจตามมาตรา 44 หมดไป

รัฐบาลใหม่ผสม 19 พรรค โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผ่านพิธีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นที่เรียบร้อย

เหลือเพียงขั้นตอนเพื่อให้การเข้าบริหารราชการแผ่นดินสมบูรณ์ คือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ซึ่งมีกำหนดแน่นอนแล้วเป็นวันที่ 25-26 ก.ค.

ตามข้อตกลงวิป 3 ฝ่าย รัฐบาล ฝ่ายค้านและส.ว. กรอบเวลา 2 วัน รวม 28 ชั่วโมง แบ่งเป็นส.ส.ฝ่ายค้าน 13 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง ส.ส.รัฐบาล 5 ชั่วโมง และส.ว. 5 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาแถลงของนายกรัฐมนตรี

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาบอกว่า หากอภิปราย 2 วันไม่พออาจขยายเวลาให้ได้อีก 1 วัน

นโยบายรัฐบาลคือสิ่งจำเป็นต้องมี เพราะเป็นกรอบแผนการทำงานของรัฐมนตรีจากทุกพรรคที่มาทำงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสะเปะสะปะไปกันคนละทิศคนละทาง

ทั้งยังเป็นสิ่งบ่งบอกว่า ต่อไปนี้รัฐบาลใหม่มีแผนการทำงานไปในทิศทางใด จัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไร

การแถลงนโยบายรัฐบาลครั้งนี้ น่าจับตา เนื่องจากตลอดระยะกว่า 5 ปี ที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาล คสช. ไม่มีฝ่ายค้านตรวจสอบ ให้ข้อเสนอแนะ ชี้จุดอ่อน ข้อบกพร่องในนโยบาย ถึงจะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช.แต่ก็เป็นเพียงตรายาง

สำหรับการจัดทำร่างนโยบายรัฐบาลเพื่อแถลงต่อรัฐสภาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

พรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลต้องประสบความยากลำบาก เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมเกือบ 20 พรรค แต่ละพรรคต้องการผลักดันนโยบายตนเอง ที่หาเสียงไว้กับประชาชน เข้ามาใส่ไว้เป็นนโยบายรัฐบาลด้วยกันทั้งสิ้น

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดทำให้ลงตัว เป็นที่พอใจของทุกพรรค

ทั้งนี้ มีความเคลื่อนไหวทั้งในซีกของรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่แสดงออกถึงความเอาจริงเอาจังต่อการแถลงนโยบายและการอภิปรายครั้งนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เพื่อเตรียมการสำหรับการแถลงนโยบาย และรับมือพรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศกร้าวว่า

จะอภิปรายถล่มร่างนโยบายรัฐบาลเต็มที่ ไม่มีการออมมือให้แน่นอน

สําหรับร่างคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาฉบับปรับปรุงแก้ไขโดยที่ประชุม ครม.นัดที่ผ่านมา

กำหนดหลักการในการบริหารราชการในช่วง 4 ปีไว้ 3 ข้อหลัก ได้แก่

น้อมนำพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 การยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การพัฒนาประเทศตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 9 การมุ่งแก้ไขปัญหาปากท้อง สร้างรายได้ให้ประชาชน ชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำ

ในส่วนนโยบายเร่งด่วน 1 ปีแรก อาทิ การสานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ การแก้ปัญหาที่ดิน มาตรการเศรษฐกิจ ความยากจนและรายได้การเกษตร เร่งศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชาทางการแพทย์

รวมถึงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่ 3 นโยบายในช่วง 4 ปี เน้นด้านความมั่นคง สร้างความเข้มแข็งฐานราก การสาธารณสุข ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันการทุจริต ขณะที่งบประมาณนั้นเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นอกจากเนื้อหาร่างนโยบายที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเรื่องของงบประมาณที่ต้อง ทำตามกฎหมายการเงินการคลัง ต้องระบุถึงที่มาของงบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆ

ฝ่ายค้านยังเตรียมพุ่งเป้าอภิปรายในประเด็น คุณสมบัติรัฐมนตรีหลายคน บวกกับอารมณ์คนจำนวนไม่น้อย ที่สะท้อนผ่านผลสำรวจโพลหลายสำนัก ส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวังกับชื่อคณะรัฐมนตรีที่ออกมา เนื่องจากหลายคนมีประวัติความเป็นมาไม่ค่อยขาวสะอาด

พรรคเพื่อไทยแกนนำฝ่ายค้านซึ่งมีประสบการณ์กรำศึกในสภามามากกว่าพรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งเข้ามา

ได้จัดตั้งทีมงานอภิปรายนโยบายรัฐบาลขึ้นเป็นการเฉพาะ แต่ละทีมมีหัวหน้าชุดและพี่เลี้ยง เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายอดิศร เพียงเกษ และแกนนำพรรคมาช่วยติวเข้ม

เตรียมจัดใหญ่ จัดหนักทั้งบุ๋น-บู๊

ข่าวแจ้งว่ามีส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอตัวเป็นผู้อภิปรายแล้วราว 50 คน ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย

ด้านเศรษฐกิจ จะเป็นการอภิปรายปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ระบบคมนาคมขนส่ง รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง การส่งออก ร่วมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนของรัฐบาล

ด้านการเมือง เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย หลักธรรมาภิบาล ระบบคุณธรรมจริยธรรม ปัญหาการทุจริต การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการอภิปรายคุณสมบัติของรัฐมนตรี

ด้านความมั่นคง เป็นการอภิปรายเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน การควบคุมสิทธิเสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์

ด้านปัญหาสังคม เป็นการอภิปรายปัญหาสาธารณสุข เด็ก สตรี คนชรา ยาเสพติด รวมถึงความไม่พร้อมของประเทศไทยในการเปิดเสรีกัญชา ที่บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

ด้านการศึกษา และด้านการกระจายอำนาจ

สําหรับรัฐมนตรีเป้าอภิปรายในประเด็น คุณสมบัติ จัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม รวม 14 คน ได้แก่

กลุ่ม 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

กลุ่มรัฐมนตรีที่มีคดีค้างเก่าติดตัว นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ

กลุ่มผู้ต้องหาคดีกบฏ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กับนาย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กลุ่มถือหุ้นสื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกฯ

“โดยเฉพาะตัวนายกฯ ที่อยู่ระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ หากคำตอบออกมาว่าเป็น ก็จะขาดคุณสมบัติ ทำให้รัฐบาลจบเห่” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุ

มีความพยายามจากฝ่ายรัฐบาลในการหว่านล้อมไม่ให้ฝ่ายค้านฉวยโอกาส ใช้เวทีแถลงนโยบายเป็นเวทีซ้อมใหญ่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ปรามด้วยตัวเองว่า การแถลงนโยบายวันที่ 25 ก.ค. ขอให้เข้าใจว่าเรื่องการแถลงนโยบายและการเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ของนโยบายมากขึ้นเท่านั้น

“ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นคนละเรื่อง คนละวาระกัน” นายกฯ ระบุ

อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาของสังคมแสดงความไม่เห็นด้วยกับพล.อ.ประยุทธ์

โดยมองว่าการอภิปรายนโยบายรัฐบาล คือการแสดงความเห็นว่านโยบายต่างๆ ดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ปัญหาประเทศและประชาชนหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และหลักกลไกรัฐสภา ที่ฝ่ายค้านต้องตรวจสอบทุกแง่มุม

อีกทั้งการที่ผลลัพธ์นโยบายจะสำเร็จหรือล้มเหลว คุณสมบัติความเหมาะสมในตัวบุคคลที่มาเป็นรัฐมนตรี ในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบายโดยตรง ต้องไม่ขัดต่อข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นที่คลางแคลงใจของสังคม

จึงเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับคุณภาพตัวนโยบาย

แล้วก็เป็นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ และประธานรัฐสภา ที่ได้ชี้แจงระเบียบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา กำหนดไว้ว่าการอภิปรายความเป็นไปได้ของนโยบาย หรือการที่นโยบายจะประสบความสำเร็จ

ฝ่ายค้านมีสิทธิ์อภิปรายคุณสมบัติรัฐมนตรีได้

ทำให้หลายคนมองว่า ผลจากการเปิดไฟเขียวดังกล่าวน่าจะทำให้ศึกปะทะ “ยกแรก” ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน บนเวทีรัฐสภา ดุเดือดเลือดพล่าน

สมใจกองเชียร์ที่เฝ้ารอมานานกว่า 5 ปีแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน