แถลงนโยบาย-พันธสัญญา

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แถลงนโยบาย-พันธสัญญา : รัฐสภานัดประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล ก่อนที่จะบริหารประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดความยาวจำนวน 66 หน้า

กำหนดประชุมกันเป็นเวลา 2 วัน เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายซักถามรวม 28 ชั่วโมง 30 นาที ฝ่ายค้าน 13 ชั่วโมง 30 นาที คณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง พรรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง และสมาชิกวุฒิสภา 5 ชั่วโมง

นอกจากจะทำตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นสัญญาประชาคมว่ารัฐบาลชุดนี้ จะบริหารประเทศแบบไหน ดำเนินการเรื่องอะไรบ้าง และจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร

คาดว่าจะมีประชาชนสนใจติดตามเป็นจำนวนมาก

สําหรับรัฐบาลชุดนี้ ถือเป็นการกลับมาอีกครั้งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 19 พรรค

แต่ตำแหน่งหลักๆ ก็ยังอยู่กับกลุ่มของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ เช่น นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เคยร่วมรัฐนาวา คสช. นโยบายต่างๆ จึงเป็นการผสมผสานระหว่างพรรคการเมือง คสช. และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ว่าได้

ส่วนจะมีความลงตัวและกลมกลืนหรือไม่ สามารถนำมาเป็นแนวทางในการบริหาร กำหนดทิศทางประเทศชาติบ้านเมืองได้อย่างมีศักยภาพหรือไม่ ต้องติดตามข้อมูลที่คณะรัฐมนตรีนำมาแสดง โดยมีฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตตรวจสอบ

ย่อมต่างจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย ที่ไม่เคยแสดงบทบาทเหล่านี้

ดังนั้น การแถลงนโยบายรัฐบาล จึงเป็นเหมือนพันธสัญญาว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนให้สัมฤทธิผล เกิดประโยชน์แก่ประชาชน สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดี ชาวบ้านมีความสุข ตลอดจนประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า

ถ้าหากไม่เป็นตามที่แถลงไว้ และทำให้เกิดความเสียหาย ส่อไปในทางไม่โปร่งใส หรือเอื้อประโยชน์แก่บางกลุ่มบางพรรค สภาผู้แทนราษฎร โดยฝ่ายค้านก็มีอำนาจตรวจสอบ ด้วยการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ยิ่งถ้าทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ขาดธรรมาภิบาล ถึงขั้นประพฤติทุจริตมิชอบ และมีหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจจบแล้ว ก็สามารถยื่นต่อให้ป.ป.ช.ไต่สวนตามขั้นตอน

เมื่อรัฐบาลทำงานผ่านไประยะหนึ่ง ก็จะถูกตรวจสอบว่าทำได้ตามที่แถลงนโยบายหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน