กมธ.ถกสัมปทานทางด่วนหวั่นข้อมูลถูกสอดไส้ กำชับพิจารณาอย่างรอบด้าน

กมธ.ถก – จากกรณีที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร สั่งยุติการประชุม เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากนพ.ระวี มาศฉมาดล รองประธานกมธ. หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แก้ไขมติที่ประชุมโดยพลการ จากเดิมที่ที่ประชุมมีมติเชิญตัวแทน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประธานสหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และตัวแทนบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) เพื่อพิจารณาปมขยายสัญญาสัมปทาน 30 ปี ให้กับบริษัททางด่วนรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นให้เชิญหน่วยงานเดียวคือสหภาพแรงงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย โฆษกกมธ. ระบุด้วยว่า ได้รับการยื่นหนังสือจากตัวแทนสหภาพการทางพิเศษ (กทพ.) เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม โดยเป็นคนละกลุ่มกับที่ที่ยื่นหนังสือร้องเรียนกับกมธ.ก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่ามีทั้งผู้สนับสนุนให้ตรวจสอบ และไม่ให้ตรวจสอบ กมธ.จึงขอให้ตัวแทนสหภาพกทพ. กลับไปตกลงกันในรายละเอียดให้ชัดเจน ก่อนจะเชิญให้ข้อมูลกับที่ประชุมกมธ.อีกครั้ง

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562 รายงานข่าวจากกมธ.วิสามัญฯ แจ้งว่า สำหรับกรณีที่ตัวแทนสหภาพกทพ. ยื่นหนังสือชี้แจงกรณีการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานกับบริษัททางด่วนรถไฟฟ้ากรุงเทพต่อนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน เนื่องจากข้อมูลที่สมาชิกสหภาพกลุ่มหนึ่งนำไปยื่นต่อกมธ.มีความผิดพลาด หากนำไปใช้อย่างไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลกระทบทางกฎหมายได้ และผู้บริหารของสหภาพกทพ. ชุดปัจจุบันไม่ได้รับรองข้อมูลดังกล่าว และไม่สามารถร่วมรับผิดชอบด้วยได้ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ให้การเมือง หรือผู้หวังผลประโยชน์แอบแฝงเข้าไปครอบงำ

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับท่าทีของสหภาพกทพ. มีความเห็นแตกต่างเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอยากให้ขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM เพื่อยุติปัญหาข้อพิพาททั้งหมด และให้ BEM บริหารงานต่อไป เพราะหวั่นว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคงขององค์กร เนื่องจากหากแพ้คดีอีก จะต้องรับภาระหนี้สินจำนวนมากนับแสนล้านบาท อาจจะกระทบต่อสวัสดิการของพนักงาน รวมทั้งไม่ไว้วางใจกลุ่มคนที่พยายามมีบทบาทเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ มีเจตนาแอบแฝงจะทำเรื่องดังกล่าวโดยหวังผลทางการเมือง รวมถึงหวังผลประโยชน์ในการเข้ามาดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและโยกย้ายบุคลากรพวกของตนหรือไม่

ขณะเดียวกัน มีพนักงานสหภาพกทพ. บางส่วนที่ต้องการให้จ่ายเงินชดเชยก้อนแรกตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา พร้อมสู้ทุกข้อพิพาท แต่ต้องนำทางด่วนที่เป็นข้อพิพาทนี้กลับมาบริหารงานเอง ซึ่งจะมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะกรณีการจัดซื้อจัดจ้างหลายกรณีภายในกทพ. ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นกรณีบัตรอีซี่พาส กล้องวงจรปิด หรือระบบคอมพิวเตอร์จัดเก็บข้อมูล ที่พบว่าสูงเกินกว่าราคาตลาด ซึ่งมีความพยายามรวบรวมข้อมูลส่งให้ปปง. และป.ป.ช. ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเหล่านี้ว่ามีความผิดปกติอย่างใดหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังจากที่กมธ.ได้รับข้อมูลดังกล่าว จะนำไปพิจารณา และทบทวนรายละเอียดที่ถูกเสนอมาพิจารณาอีกครั้ง ว่าถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ เนื่องจากหวั่นจะมีการสอดแทรกข้อมูล ทำให้เกิดความเสียหายได้

/////

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน