สหรัฐและไทย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ไทยกลับมาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนอีกครั้งในสัปดาห์นี้ เป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งที่ 52 มีชาติมหาอำนาจที่เป็นพันธมิตรอาเซียนเข้าร่วมด้วย ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา

แขกบ้านแขกเมืองมาครั้งนี้จึงเป็นวาระแสดงความยินดีกับไทยที่มีรัฐบาลใหม่ รวมถึงยินดีกับนายกรัฐมนตรีคนเดิมที่ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม หลังการเลือกตั้ง

สหรัฐน่าจะเป็นประเทศที่มีสื่อมวลชนนานาประเทศจับตาเป็นพิเศษ เพราะส่งสัญญาณว่าต้องการถ่วงดุลอำนาจกับจีนในภูมิภาคนี้

คำแถลงยินดีของนายไมก์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐบาลไทย ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. เป็นส่วนหนึ่งในการส่งสัญญาณดังกล่าว

รมว.ต่างประเทศสหรัฐระบุก่อนเดินทางมาร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งนี้ว่า สหรัฐเฝ้ารอการได้ร่วมงานกับรัฐบาลไทยชุดใหม่ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนในระดับ ทวิภาคีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ดังเช่นความร่วมมือที่ยาวนานและแน่นแฟ้นตลอดระยะเวลานานกว่า 200 ปีที่ผ่านมา

ถ้อยคำดังกล่าวไม่เพียงสร้างความปลาบปลื้ม ยินดีกับรัฐบาลใหม่เท่านั้น ยังทำให้เกิดคำถามด้านนโยบายการต่างประเทศแก่ผู้คนกลุ่มอื่นๆ ด้วย ว่าสหรัฐพอใจพัฒนาการด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของไทยแล้วหรือไม่ อย่างไร

หรือเข้าใจตามคำอธิบายของรัฐบาล ว่า ตลอด 5 ปีมานี้แม้ว่ารัฐบาลจะมาจากรัฐประหาร แต่สิทธิเสรีภาพและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้นเป็นไปโดยปกติ

ก่อนหน้าการเลือกตั้ง รัฐบาลสหรัฐแสดงท่าทีว่าเข้าใจเหตุผลของรัฐบาลไทยโดยรวม สังเกตได้จากการเปิดทำเนียบขาวต้อนรับหัวหน้า คสช. เมื่อเดือนตุลาคม 2560

ต่อมายังมีผู้แทนรัฐบาลฝ่ายความมั่นคงและกองทัพระดับสูงเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นที่คาดหมายว่า เมื่อไทยมีรัฐบาลพลเรือน แล้วเท่ากับเป็นใบเบิกทางให้สหรัฐกระชับความร่วมมือทางความมั่นคงและการทหารได้อย่างเต็มที่

ทั้งหมดเป็นไปตามผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้ ตามนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” นั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน