อนาคตใหม่กลบเพื่อไทย? :คอลัมน์ ใบตองแห้ง

หลังอภิปรายนโยบายรัฐบาล ซูเปอร์โพลยก “ทิม พิธา” เป็นดาวสภา ตามด้วยปิยบุตร, ช่อ พรรณิการ์, วัน อยู่บำรุง และเอ๋ ปารีณา ขณะที่ อ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ก็ชื่นชมพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะ ทิม พิธา, ครูจุ๊ย กุลธิดา แต่ตำหนิพรรคเพื่อไทยพรรคเสรีรวมไทยว่าแย่ พอๆ กับประยุทธ์

พูดได้ว่าเป็นทัศนะคนชั้นกลางในเมือง คนตรงกลางๆ หรือบางคน “เหลือง” ด้วยซ้ำ ยกเว้นพวกเกลียดชังอนาคตใหม่ สุดขั้วสุดโต่ง ซึ่งขุดเรื่องส่วนตัวมาทำลายทิม พิธา ในทันใด

แต่ขณะเดียวกันฝั่ง “แดง” ฝั่งประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง ก็รับไม่ได้กับการชูภาพอนาคตใหม่เหยียบย่ำเพื่อไทย โดยเฉพาะเมื่อ “ติ่งอนาคตใหม่” แห่ชมอนุพงษ์ใจกว้าง ก็สวนว่าไม่รู้จักหรือไง นั่น ผบ.ทบ.กระสุนจริงปี 53

กลายเป็นดรามาในโลกออนไลน์ แม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ยังไงก็ฝ่ายค้านด้วยกัน แต่มันสะท้อนทัศนะ พื้นฐานความคิด และประวัติศาสตร์การต่อสู้ ที่แตกต่างของ FC ทั้งสองฝ่าย

การประเมินผลงานฝ่ายค้าน ที่จริงมาจากจุดยืนแตกต่าง คนทั่วไปอาจมองว่า ฝ่ายค้านควรเสนอความเห็นเป็นประโยชน์ มีเนื้อหาสาระ วิจารณ์รัฐบาลบ้าง แต่ไม่ใช้อารมณ์

แต่ตรงกันข้าม คนที่ต่อสู้มา 13 ปี คนที่เจ็บปวดถูกกระทำ จากปี 53 จาก 5 ปีรัฐประหาร จนเกลียดชังการสืบทอดอำนาจ ก็จะสาแก่ใจว่าฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่แทนตน ในการประณาม “หน้าไม่บาง” กระทั่งตัดพี่ตัดน้อง

ที่คนส่วนหนึ่งมองว่าแย่ ไม่มีสาระ ใช้ภาษาไม่เหมาะสม สำหรับประชาชน 16.5 ล้านที่เลือก 7 พรรคฝ่ายค้าน จึงกลับ “สะใจ” และถือว่าเข้าเป้า เพราะสามารถทำให้ผู้นำเผด็จการระเบิดอารมณ์ ก้าวร้าว อำนาจนิยม มองสมาชิกรัฐสภาเหมือนผู้ใต้บังคับบัญชา โดนหัวเราะก็เกรี้ยวกราดชี้หน้า

กระนั้น การทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ก็ต้องประกอบทั้งสองด้าน การนำเสนอไอเดียดีๆ กระทั่งรัฐบาลยังทึ่ง ก็เท่ากับสร้างเครดิต เรียกคะแนนนิยม ข่มกันเห็นๆ เพียงแต่คนจำนวนหนึ่งขัดใจ ว่าไม่ควรถ้อยทีถ้อยอาศัย ชมกันไปกันมา กับอำนาจไม่ชอบธรรม

ก็เป็นความลำบากในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ผู้แทนประชาชนที่ “ชังสืบทอดอำนาจ” (ไม่ใช่ชังชาติ) แต่ก็ต้องสร้างแนวร่วม ดึงคนเห็นต่าง ขยายคะแนนนิยม

ที่บอกว่า FC เพื่อไทยกับอนาคตใหม่แตกต่างกัน อาจไม่ถูกทั้งหมด เพราะคนเลือกอนาคตใหม่ 6.3 ล้านมีความแตกต่างหลากหลาย หนึ่ง ในเขต ทษช.ถูกยุบ คนเคยเลือกเพื่อไทยก็เทให้ สอง คือคนรักประชาธิปไตยหรือ “แดง” ที่เชื่อมั่นว่าธนาธร ปิยบุตร เข้มข้นกว่าในทางหลักการ สาม คนรุ่นใหม่ที่เห็นว่าอนุรักษ์นิยมล้าหลังจะปิดกั้นอนาคตประเทศ สี่ คนชั้นกลางในเมืองที่เคยไม่ชอบทักษิณ แต่ไม่เอาสืบทอดอำนาจ และขยะแขยงแมลงสาบ

แต่ละส่วนยากจะวัด แต่การที่อนาคตใหม่ชนะในเขตที่เพื่อไทยไม่เคยชนะ หรือชนะเพื่อไทยด้วยซ้ำ ในเขตเมืองเขตเทศบาล ทำให้มองกันว่า อนาคตใหม่ดูเป็น “พรรคของคนรุ่นใหม่และคนชั้นกลางในเมือง” มากกว่าเพื่อไทย

ทั้งที่ส่วนที่ 2 ก็น่าจะไม่น้อย อย่าลืมว่า ธนาธรมีภาพลักษณ์ผู้นำประชาธิปไตยเข้มข้น ปิยบุตรก็มาจากนิติราษฎร์ (ไม่อย่างนั้น เครือข่ายอำนาจอนุรักษ์นิยมคงไม่มองว่าอันตรายยิ่งกว่าทักษิณ)

อนาคตใหม่จึงน่าจะมีฐานทั้งสองฝั่ง คือฝั่งประชาธิปไตยเข้มข้น นักวิชาการชูธงหนุน กับคนรุ่นใหม่ คนชั้นกลางในเมือง ที่ชื่นชอบวิธีคิดใหม่ๆ การเมืองแบบใหม่ (แทบไม่ไปงานบวชงานบุญ)

ขณะที่เพื่อไทย “กินบุญเก่า” พูดอย่างนี้ไม่ใช่ดูแคลน “บุญเก่า” คือความเชื่อมั่นในฝีมือบริหารประเทศ ความมีประสบการณ์ การตอบสนองผลประโยชน์มวลชนชนบท

“บุญเก่า” ยังรวมถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดง ที่ถูกยิงหัว ผ่านความเจ็บปวด คับแค้น ถูกกระทำ มาด้วยกันกับทักษิณเพื่อไทย

ความแตกต่างนี้ทำให้ขัดแย้งโดยธรรมชาติ เช่นความกังวลว่าอนาคตใหม่จะแกว่งไปทาง “คนชั้นกลางในเมือง” คิดอนาคต สร้างสรรค์ จน “ก้าวข้าม” ความอยุติธรรม เพราะเว้นเสียจากแกนนำ ส.ส.ส่วนใหญ่หรือ “ติ่งอนาคตใหม่” ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ร่วมกับการต่อสู้ 13 ปี

ความแตกต่างนี้ไม่น่าประหลาดใจ บนความหลากหลายในช่วงการเมืองเปลี่ยนผ่าน พรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่จำต้องเป็นคู่แข่งกัน บนฐานมวลชนที่ทั้งใกล้เคียงและแตกต่างกัน ภายใต้เป้าหมายประชาธิปไตย

เผลอๆ ก็จะถูกกระทำด้วยกัน ถูกทำลาย ถูกให้ร้าย ถูกจ้องยุบพรรค จนความแตกต่างค่อยๆ หลอมรวมกัน

ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ของคนหลากชนชั้นหลากทัศนะอยู่แล้ว เครือข่ายอำนาจอนุรักษ์ต่างหากปิดพื้นที่ ครอบงำไว้เฉพาะพวกตัว

มองไปข้างหน้า “ระบอบตู่” จะสร้างแนวร่วมต่อต้านที่กว้างขวางหลากหลายกว่านี้อีก แม้แต่อดีตพันธมิตร ภาคประชาสังคม NGO เสื้อเหลือง กปปส.บางกลุ่ม เตรียมแสวงจุดร่วมกันไว้ให้ดี

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน