รัฐบาลสะดุดขา 2 ปมปัญหาใหญ่

รัฐบาลสะดุดขา 2 ปมปัญหาใหญ่ – เหตุการณ์วางระเบิดป่วนกรุง 5 จุด มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัส 4 คน เมื่อช่วงค่ำวันที่ 1 ส.ค. หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อเนื่อง วันที่ 2 ส.ค. ลุกลามไปยังสถานที่ราชการสำคัญ และบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใจกลางเมือง

สร้างความตื่นตระหนกไม่เฉพาะ ผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ยังรวมถึงประชาชนทั่วประเทศ

ผลักดันบรรยากาศบ้านเมืองเข้าสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายอีกครั้ง

ส่งผลเฉียบพลันต่อสถานการณ์การเมือง รวมถึงเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ดังที่เห็นจากการดัชนีตลาดหุ้นตกวูบลงกว่า 20 จุดทันทีที่เกิดเสียงระเบิด และในทุกระยะต่อจากนี้ยังอาจมีผลต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยว

หลังเหตุการณ์ไม่กี่นาที ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องต่างก็วิเคราะห์คาดเดาถึงต้นสายปลายเหตุต่างๆ นานา

หลายคนมองว่า น่าจะมีแรงจูงใจมาจาก “การเมือง” รวมทั้ง “ไฟใต้ลามกรุง” เนื่องจากผู้ต้องสงสัย 2 รายที่ถูกจับกุมเป็นชาว 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้

กระนั้นก็ตามหากฟังจากพล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะเหตุการณ์รูปแบบการก่อเหตุคล้ายกับเหตุการณ์ปี 2549 สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการใส่ความว่าฝ่ายความมั่นคงทำเอง

“ทั้งที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น มาจากกลุ่มเดิมๆ ความคิดเดิมๆ คนสั่งการคนเดิม แต่คนลงมืออาจเป็นคนหน้าใหม่ นี่คือสิ่งบอกเหตุทางการเมือง เกิดจากกลุ่มที่มีความคิดแบบนี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นสิ่งบอกเหตุว่าอาจจะมีครั้งต่อไปเกิดขึ้นอีก แต่ขอให้มั่นใจว่านายกฯ และฝ่ายความมั่นคงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้”

ดูเหมือนเป็นการวางน้ำหนักไปที่การเมือง แบบเต็มๆ

อย่างไรก็ตามในสายตาคนทั่วไปต่อประเด็น การเมืองยังแตกออกเป็น 2-3 ความเห็น เช่น ความเห็นที่ว่าอาจเป็นฝีมือฝ่ายตรงข้ามต้องการดิสเครดิต ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลคสช.มาเป็นรัฐบาล “ประยุทธ์ 2”

บ้างก็ว่าอาจเป็นการ “ลองของ” เพราะรัฐบาลใหม่ถึงนายกฯ และรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงจะ หน้าตาเดิมๆ “อวตาร” มาจากคสช. แต่ก็ไม่มีดาบ “มาตรา 44” ในมือ

หรืออาจเป็นระเบิดถูกสร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายทางการเมืองเพื่อกลบเกลื่อนสถานการณ์

ที่กำลังคุกคามผู้มีอำนาจอยู่ตอนนี้

ตัดเรื่องระเบิดป่วนกรุงทิ้งไป ปล่อยให้เป็นหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานเกี่ยวข้องสืบสวนสอบสวนหาคำตอบสุดท้าย ว่าเชื่อมโยงถึงกลุ่มขบวนการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ อย่างไร

พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองแบบเพียวๆ อย่างที่สังคมรับรู้กันโดยทั่วไปว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ ได้ทิ้งปมปัญหาแคลงใจให้กับสังคมวงกว้างหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ

เรื่องคุณสมบัติพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น เจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ เรื่องของนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เข้าไปมีส่วนพัวพันการปล่อยเงินเชื่อ 9 พันล้านบาทของธนาคารกรุงไทยให้กับเครือกฤษดามหานคร

และอีก 2 เรื่องใหญ่ที่สังคมจับตา

กรณีคำถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. กับการแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 25-27 ก.ค. ที่ส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ

กรณีคำถวายสัตย์ จุดพลุเปิดประเด็นโดยนาย ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งพรรคอนาคตใหม่ ตามมาด้วยความเห็นนักการเมืองพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ นักกฎหมาย นักวิชาการ อดีตประธานสภาผู้แทนฯ อดีตที่ปรึกษา กรธ. ฯลฯ รวมทั้งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่เห็นว่า

เรื่องนี้คงเป็นประเด็นใหญ่ต่อเนื่อง ไม่จบด้วยคำพูดง่ายๆ ว่าผ่านไปแล้ว เพราะข้อความถวายสัตย์ ที่เขียนชัดเจนในรัฐธรรมนูญ คงมิใช่ให้นายกฯ คนใดอยากอ่านอะไรหรือกล่าวถ้อยคำใดก็สามารถอ่าน หรือตัดตอนได้ตามใจชอบ

“มิเช่นนั้นจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทำไม”

ประเด็นการกล่าวถวายสัตย์ ไม่ครบถ้วนถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ทำเอานายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ถึงกับไปต่อไม่เป็น ปฏิเสธที่จะตอบคำถามใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ บอกแต่ว่าเรื่องผ่านไปแล้ว จบแล้ว ในอดีตก็เคยมีรัฐบาลที่ถวายสัตย์ไม่ครบเช่นเดียวกัน

“ไม่ขอตอบเรื่องนี้แล้ว เรื่องอื่นได้ เรื่องนี้ไม่ตอบอะไรทั้งสิ้น แล้ววันหนึ่งจะรู้เองว่าทำไมถึงไม่ควรพูด”

ถึงปัจจุบันไม่มีคำตอบจากนายวิษณุ แต่ก็เป็นนาย ปิยบุตร ที่งัดหลักฐานหนังสือ“หลังม่านการเมือง” พิมพ์เมื่อปี 2554 ขึ้นมาตอกฝาโลงนายวิษณุ คนเขียนหนังสือดังกล่าว ที่ได้ให้คำตอบเรื่องการกล่าวถวายสัตย์ ไว้ชัดเจน ในข้อเขียนตอนหนึ่ง

“จะผิดไม่ได้ ท่านนายกฯชวนจะไม่อ่าน แต่ใช้วิธีจำเอา ส่วนนายกฯท่านอื่นๆ จะใช้วิธีอ่านทีละวรรค ตามที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิมพ์ลงบัตรแข็ง ซึ่งดูปลอดภัยกว่าการจำ เพราะจะไม่ผิดพลาด ขืนท่องจำผิดๆ ถูกๆ ตกคำว่า ‘และ’ คำว่า ‘หรือ’ ไปสักตัวก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าได้ถวายสัตย์ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเปล่าๆ”

ล่าสุด นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ นำเรื่องยื่นร้องต่อป.ป.ช.ให้ไต่สวนและส่งเรื่องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยแล้ว

พร้อมประเด็นการแถลงนโยบายรัฐบาลที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป

ในกรณีอ่านคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้อยคำ

ปัญหาอยู่ที่ว่า มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ปี 60 บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติถึง “การกระทำ ใด” ไว้ด้วย การถวายสัตย์ปฏิญาณที่ ไม่ได้กระทำตามมาตรา 161 จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 อย่างชัดเจน

คำถามคือถ้าขัดรัฐธรรมนูญแล้ว จะอย่างไร รัฐบาลใหม่ที่ตั้งขึ้นและนโยบายที่เพิ่งแถลงเสร็จสิ้นไปจะ“โมฆะ”หรือไม่

นอกจากกรณีคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน การแถลงนโยบายรัฐบาลก็ยังมีปัญหาในตัวเอง ว่าการไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ที่กำหนดให้ต้องชี้แจงนั้น

จึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 5 เช่นกัน

สังคมสงสัยและจับตาว่ารัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จะหาทางออกจากปัญหานี้อย่างไร

เพราะตามตัวอักษรในรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และ 162 คือหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ทำผิดพลาดจริงหรือไม่

หากดูจากแนวทางตามที่นายวิษณุเขียนไว้ใน หนังสือ กรณีคำถวายสัตย์ อาจต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยตีความออกมาอย่างไร ถ้าตีความว่ารัฐบาลยังไปต่อได้ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่หากผลออกมาตรงข้าม ก็จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่

ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า สิ่งที่รัฐบาลกระทำภายหลังการถวายสัตย์ วันที่ 16 ก.ค. รวมถึงการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะต้องเป็น “โมฆะ” ทั้งหมดด้วยหรือไม่ เรื่องก็จะยุ่งอย่างที่นายวิษณุ ระบุในหนังสือ

ต่อให้เสียงระเบิดใดๆ ก็ไม่สามารถกลบเกลื่อนเรื่องนี้ได้

หรือถึงจะมีความพยายามกล่าวหาเป็นฝีมือ กลุ่มการเมืองเก่า ต้องการเขย่ารัฐบาล แต่หากดูจากสภาพความเป็นจริงตอนนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

กระทั่งฝ่ายค้านเองก็ยังมีเวทีในสภาให้ เลือกเล่นอีกหลายเวที ไม่ว่าการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบ ประมาณฯ หรือการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้วิธีเล่นใต้ดิน ในขณะที่บนดิน

รัฐบาลมีความพร้อมจะ“สะดุดขาตัวเอง” ตลอดเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน