ฉวยใช้เหตุระเบิด : บทบรรณาธิการ

ฉวยใช้เหตุระเบิด – เมื่อมีเหตุการณ์วางระเบิดในเขตชุมชนที่อยู่อาศัย หรือย่านธุรกิจ ไม่ว่าความเสียหายจะมากน้อย เหตุการณ์ลักษณะนี้มักส่งผลทางจิตวิทยาต่อประชาชน

นอกจากวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคง จะมีการคิดคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา และบ่อยครั้งเหตุการณ์เช่นนี้มักถูกเชื่อมโยงต่อไปยังประเด็นการเมือง

อาจเพราะเป้าหมายของการลงมือมุ่งหมายให้เกิดแรงสะเทือนทางการเมืองเป็นสำคัญ

ยิ่งเมื่อเหตุการณ์ต้นเดือนสิงหาคมอยู่ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนและชาติที่เกี่ยวข้องที่กรุงเทพฯ มีตัวแทนรัฐบาลทั้งชาติมหาอำนาจเอเชียและชาติมหาอำนาจโลกมาร่วม

ฉวยใช้เหตุระเบิด

การวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ไม่ว่าเป็นฝีมือฝ่ายใด จึงถูกมองว่าหวังผลทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม การฉวยใช้เหตุการณ์ลักษณะนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง ไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสอบสวนและผลการสอบสวน

ฉวยใช้เหตุระเบิด

โดยเฉพาะการกล่าวโทษคู่แข่ง หรือผู้มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างจากตนเองทางสื่อโซเชี่ยลหรือสื่ออื่นๆ

นอกจากเป็นการให้ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐานแล้ว จะตอกย้ำซ้ำเติมความแตกแยกและขัดแย้งทางสังคมที่ยังไม่คลี่คลายมาเกินสิบปีด้วยพฤติกรรมนี้

ฉวยใช้เหตุระเบิด

มีแต่จะเพิ่มอคติ ความเกลียดชัง ความสุดโต่ง และไม่ยึดหลักเหตุผล

หากมองย้อนเหตุการณ์วางระเบิดก่อนหน้านี้ ไม่ว่าการวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหม เดือนสิงหาคม ปี 2558 หรือการวางระเบิดหลายจุดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เดือนสิงหาคม ปี 2559 จะพบพฤติกรรมคล้ายกันนี้มาก่อน

เป็นการฉวยโอกาสก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสรุปผลการสอบสวนและจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องสงสัย ด้วยการใช้เหตุการณ์ร้ายกล่าวหากลุ่มกิจกรรมทางการเมืองหรือตัวบุคคลขึ้นมาอย่างลอยๆ

แม้ต่อมาทราบผลแล้วก็ไม่เคยกล่าวขอโทษผู้ที่ถูกให้ร้าย

คล้ายกับกรณีหวังผลทางการเมืองที่ใส่ความผู้อื่นตามความเชื่อของตนเอง แม้ศาลตัดสินแล้วและผู้ต้องหาตัวจริงรับสารภาพแล้ว ก็ยังใช้อคติและจินตนาการเดิมของตนเองเป็นอาวุธทิ่มแทงบุคคลเป้าหมาย

การกระทำเช่นนี้ถ้าไม่ยอมยุติ ก็สมควรต้องถูกประณาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน