รายงานพิเศษ

มติศาลรัฐธรรมนูญที่ตีกลับร่างรัฐธรรมนูญให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปรับแก้ 2 ประเด็น

คือ ให้สิทธิส.ว.ร่วมเข้าชื่อกับส.ส. ขอยกเว้นเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้ จากเดิมที่กำหนดให้เพียงส.ส.เข้าชื่อเสนอเท่านั้น

รวมถึงให้กรธ.เขียนให้ชัดว่าวิธีการเลือกตั้งนายกฯแบบนี้ ให้ถือปฏิบัติไปกี่หนก็ได้ในช่วง 5 ปีแรกของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

มติดังกล่าวส่งผลอย่างไรบ้าง มีความเห็นจากตัวแทนสองพรรคใหญ่ และนักวิชาการ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

การวินิจฉัยทั้ง 2 ข้อ ทำให้เห็นว่ามีความพยายามขยายอำนาจของ ส.ว.ที่จะมาจากการแต่งตั้งโดยคสช. ให้กว้างขวางขึ้นกว่าอำนาจของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง และสะท้อนว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิเสธอำนาจของคสช. ที่พยายามสอดแทรกเข้ามาในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

โดยเฉพาะข้อแรกคือ การยอมรับอำนาจของส.ว.ให้มีบทบาทสำคัญ สามารถมีเอี่ยวเปิดทางให้นำไปสู่การมีนายกฯคนนอกได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า ส.ว.มีสิทธิเบรกนายกฯจากบัญชี เนื่องจากการจะงดเว้นนายกฯ ตามบัญชียังต้องใช้เสียงส.ส.ประกอบ ไม่ใช่เสียงส.ว.อย่างเดียว

ส่วนข้อสองนำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า ศาลมีอำนาจตีความคำถามพ่วงได้ขนาดนี้หรือไม่ เพราะวาระแรกเริ่ม กรธ.ระบุว่าต้องยึดตามวาระของส.ส.ชุดแรก แต่คำวินิจฉัยให้ยึดตาม 5 ปีของคำถามพ่วงเป็นหลัก เอื้อโอกาสให้เกิดนายกฯคนนอกได้ง่ายและบ่อยครั้งในช่วง 5 ปี

ขณะเดียวกัน การตีความแบบนี้ก็สะท้อนว่าขั้นตอนการเลือกนายกฯคนนอกก็คงไม่ง่าย จึงต้องเปิดกว้างไว้ว่า 5 ปี

ความชัดเจนจะมีขึ้นหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ อาจมีการใช้โมเดลเดิมคือ ให้คนตั้งพรรคเล็กแล้วคอยรวบเสียงที่กระจัดจายมาตั้งรัฐบาลและนายกฯ

ผลกระทบทั้งหมดจะไปตกอยู่กับพรรคการเมือง ไม่เฉพาะเพียงพรรคเพื่อไทย แต่ยังรวมถึงประชาธิปัตย์ด้วย เพราะเนื้อหาแบบนี้ทั้ง 2 พรรคใหญ่จะยากต่อการจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนนายกฯ แม้จะมีเสียงข้างมาก

แต่บรรยากาศทางการเมืองที่บีบพรรคการเมืองแบบนี้นายกฯคนนอกอยู่ได้นานแค่ไหน ยังต้องติดตาม เพราะคนเหล่านี้ต้องเข้าสู่ระบอบแบบปกติที่จะต้องถูกจับจ้องมากขึ้นจาก ส.ส. และไม่ได้มีอำนาจเต็มอย่างมาตรา 44 อีกแล้ว

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

กรณีคนนอกเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ไม่มีอะไรเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นร่างเดิมของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. หรือร่างตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนเลือกนายกฯต้องเริ่มต้นเลือกจากชื่อในบัญชีพรรคก่อน เว้นแต่ไม่สามารถ เลือกได้

หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กระบวนการเลือก นายกฯต้องเริ่มต้นในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ผู้มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯต้องเป็นส.ส.เท่านั้นและต้องเลือกจากรายชื่อพรรคก่อน

ถ้าไม่มีผู้ใดได้รับเลือก เดิมร่างนายมีชัย ส.ส.สามารถเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเลือกนายกฯจากบัญชีพรรค จากนั้นรัฐสภามีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ให้ยกเว้นได้

ประเด็นนี้ศาลวินิจฉัยว่าการเข้าชื่อต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วม เพื่อขอมติที่ประชุมร่วมมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เลือกคนบอกบัญชีได้ ตรงนี้คือประเด็นความแตกต่างระหว่างร่างนายมีชัย กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนจะเป็นการเปิดทางให้คนนอกได้เป็นนายกฯง่ายขึ้นหรือไม่นั้น ภาพรวมรัฐธรรมนูญนี้เปิดทางให้คนนอกบัญชีเป็นได้อยู่แล้ว เพียงแต่คนนอกจะสามารถเข้ามาในขั้นตอนแรกเลยยังทำไม่ได้ เพราะขั้นที่ 1 ต้องเลือกจากคนในบัญชีเท่านั้น

แต่คนนอกสามารถเข้ามาได้ในขั้นตอนถัดไป โดยมีเสียงส.ส.บวก ส.ว.เกินกว่ากึ่งหนึ่งเข้าชื่อกันขอเลือกนายกฯคนนอก และที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบจึงจะเลือกได้

ส่วนความกังวลกับขั้นตอนที่ 1 ที่ส.ว.อาจเบรกนายกฯในบัญชีพรรค โดยร่วมกับบางพรรคนั้น คิดว่าในขั้นตอนที่ 1 ถ้าสมมติว่าส.ส.เกินกว่า 376 เสียงขึ้นไป ลงมติให้คนในบัญชีเป็นนายกฯ ทุกอย่างก็จบกระบวนการ เสียงของส.ว. 250 ก็ไม่มีผลสกัดคนที่อยู่ในบัญชีไม่ให้เป็นนายกฯได้

แต่ถ้าส.ว.ไปจับมือกับบางพรรค ก็ต้องจับกันได้ให้ 375 เสียงขึ้นไปจึงจะมีผลให้เป็นไปตามที่ส.ว.ต้องการได้ ซึ่งยังตอบล่วงหน้าไม่ได้ว่าถ้าจับมือกันได้ 375 สำเร็จ เสียงนี้จะเทให้คนในบัญชีหรือเตรียมให้คนนอกบัญชีในขั้นตอนที่ 2

เพราะหลังได้นายกฯแล้วไม่ว่าเป็นคนในหรือนอกบัญชี รัฐบาลที่อยู่ได้ในระบบนี้ต้องมีเสียงในสภาผู้แทนฯอย่างเดียว โดยต้องมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งคือเกินกว่า 250 จากส.ส. 500 เสียง จึงจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินไปได้

เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯ ซึ่งยากที่จะอยู่ได้

ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี มสธ.

การวินิจฉัยแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ให้ขยายอำนาจรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว. เรื่องเลือกนายกฯ รวมทั้งอำนาจปลดล็อกจากเดิมเป็นอำนาจของ ส.ส.เท่านั้น

คำถามคือผลวินิจฉัยเช่นนี้คำนึงถึงความเป็นตัวแทนประชาชนเป็นตัวตั้งหรือไม่ เพราะการปลดล็อกนำรายชื่อนายกฯนอกบัญชีที่พรรคเสนอ ควรเป็นแค่อำนาจ ส.ส. ที่ยึดโยงกับประชาชน

การให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการสรรหาทั้งหมดมาร่วมกันปลดล็อก ลักลั่นอาจไม่ตอบโจทย์ ทำให้ถูกมองได้ว่าเป็นการปลดล็อกเพื่อปูทางให้มีนายกฯคนนอกหรือไม่

การให้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนมีอำนาจปลดล็อกยังพอรับได้ แต่การนำคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมาร่วมด้วยฟังดูแล้วขัดกันอยู่ โดยตรรกะแล้วควรมองแยกส่วน เนื่องจากบทบัญญัตินี้เอาไว้ใช้ตอนสถานการณ์พิเศษ แต่นี่ยิ่งทำให้เกิดสถานการณ์พิเศษง่ายกว่าเดิม

และเท่ากับว่าพรรคการเมืองจะไม่มีความหมาย เพราะส.ว.กลายเป็นพรรคที่มีเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไปแล้ว และเป็นอำนาจที่มีความเข้มแข็ง ทัศนคติแนวความคิดมีความเป็นเอกภาพอย่างมาก ทั้งที่อำนาจควรจะมีแค่ออกกฎหมายหรือดูจริยธรรมนักการเมืองเท่านั้น

ถ้าจะมองว่าการวินิจฉัยเช่นนี้เป็นการประนีประนอมระหว่างสนช.และกรธ.ก็สามารถตีความได้ รวมทั้งตีความในมุมของศาลที่ต้องการให้เกิดความสอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ส.ว.ไม่เห็นด้วยก็เพียงไม่ต้องโหวตเลือก จึงไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยที่ขยายอำนาจเกินขอบเขตของคำถามพ่วง

ชูศักดิ์ ศิรินิล

หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย

คำวินิจฉัยมีสองประเด็น 1.ให้ส.ส., ส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิก 750 คน มีสิทธิเสนอต่อรัฐสภาให้มีมติให้เลือกนายกฯ จากคนนอกได้ หลังไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ คือการเปิดช่องทางให้รัฐสภามีมติให้เลือกนายกฯ นอกบัญชีได้กว้างขึ้น ให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอได้

2.การเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีอันเป็น ข้อยกเว้นนั้น ที่ใช้ถ้อยคำว่า”ในวาระเริ่มแรก” เมื่อมีการเลือกตั้ง ทำให้เข้าใจว่าเลือกนายกฯ นอกบัญชีได้ครั้งเดียว ปรับเปลี่ยนเป็นในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก เข้าใจว่าแก้ให้สามารถเลือกนายกฯ นอกบัญชีได้หลายครั้ง

กรธ.มีหน้าที่ต้องแก้ไขให้เป็นไปตามมติศาลรัฐธรรมนูญ คงไปพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสียยากเพราะรูปแบบการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ แบบนี้ ไม่เคยมีปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใด

คงไปวิจารณ์อะไรไม่ได้ต้องรอให้บังคับใช้รัฐธรรมนูญก่อน ถึงเวลานั้นคนส่วนใหญ่คงเห็นถึงปัญหาและข้อดีข้อเสียเอง

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 1.เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ยากที่จะมีพรรคใดมีเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเป็นเอกภาพ

การให้ ส.ว.มีอำนาจเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ ปูบันไดให้บุคคลภายนอกเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ง่ายอยู่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อำนาจ ส.ว.ร่วมกับ ส.ส. ขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรคอีก

ยิ่งชัดเจนขึ้นว่านายกฯ ใน 5 ปีแรกหลังเลือกตั้งคงเป็นคนนอกแน่นอน เพราะเสียง ส.ว. 250 คน ย่อมเป็นเอกภาพมากกว่า ส.ส.500 คน ที่มาจากต่างพรรคกัน

2.การให้เลือกนายกฯ ด้วยวิธีนี้ในช่วง 5 ปีแรก ย่อมมีความหมายว่าหลังเลือกตั้ง ครั้งแรก เมื่อใช้รัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาแล้วนับไปอีก 5 ปีอำนาจของ ส.ว.ในการขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีพรรคย่อมมีอยู่

โอกาสที่จะมีนายกฯ จากคนนอกอยู่บริหารประเทศถึง 8 ปี จึงเป็นไปได้สูง จากร่างเดิมเข้าใจกันว่าจะเลือกนายกฯ ตามข้อยกเว้นได้ครั้งเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน