แก้รธน.กับการมีส่วนร่วมนอกสภา

แก้รธน.กับการมีส่วนร่วมนอกสภา – เมื่อวันที่ 7 ส.ค. พรรคสามัญชนและสามัญชนฅนใต้ จัดเสวนาสามัญชน “การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมนอกสภา” ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (อาคารด้านหลัง) ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

จอน อึ๊งภากรณ์

ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ต

เพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

แก้รธน.กับการมีส่วนร่วมนอกสภา

ขณะนี้เราไม่ได้อยู่ในยุคที่เป็นประชาธิปไตย แต่อยู่ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 2 เพราะการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็น นายกฯอยู่มาจากผลของรัฐธรรมนูญและเนติบริกรร่างขึ้นมา

ส.ว.ที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง เป็นการจัดสรรของคสช.โดยเอาคนที่จะจงรักภักดีมาเป็นส.ว. เชื่อว่าถ้าไม่มีส.ว.ชุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ

การที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญและมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชนโดยประชาชนเป็นคนร่าง แต่ปัญหามีอยู่รอบด้าน

ตอนนี้ประชาชนเหมือนโดนขังอยู่ในห้องรวมกับคสช. มีกลุ่มนายทุนที่สนับสนุนคสช. และพรรคพลังประชารัฐ ใช้อำนาจควบคุม และห้องนี้ยังถูกล็อกจากข้างนอก เราออกไม่ได้ และยังเอากุญแจไปทิ้งทะเลแล้ว

การแก้รัฐธรรมนูญได้ ส.ว. 1 ใน 3 ต้องลงคะแนนเห็นชอบ แต่ส.ว.อยู่ใน อุปถัมภ์ของคสช. ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญคงยากสุด จึงต้องเปลี่ยนส.ว. ให้เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าไม่แก้รัฐบาลคสช.2 จะสามารถผ่านกฎหมายได้หลายฉบับ และสามารถเอากำลังของส.ว.มาลงคะแนนให้เขาได้

นอกจากนั้น กลไกที่จะตรวจสอบรัฐบาลอย่างองค์กรอิสระก็มาจากคสช.ควบคุม นี่คือสภาที่เลวร้ายที่เราอยู่กัน ดังนั้นประการแรกแก้ที่มาส.ว. และบทเฉพาะกาลที่ทำให้คสช.มีอำนาจ ต้องแก้ในส่วนที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และกลุ่มคนที่ประสบปัญหาอย่างแท้จริง โดยมีตัวแทนประชาชนเป็น ผู้ร่าง แต่คงไม่ง่าย เพราะเนติบริกรมีการทำไว้ยากต่อการแก้

เราต้องโยงความสุขของประชาชนในทุกด้านไปจับกับรัฐธรรมนูญให้ได้ จริงๆแล้วปัญหาปากท้องของประชาชนกับรัฐธรรมนูญนั้นมันเกี่ยวกันอย่างมาก

กลุ่มคนที่ตื่นตัวแล้วก็มี แต่คนที่ยังไม่ตื่นตัวก็มีเยอะ จึงต้องทำให้ประชาชนเห็นรัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้นแล้วมันไม่ ถูกต้องก็จะออกมาเอง เช่น รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีการเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540

ฉะนั้นการที่จะต่อสู้ ต้องมุ่งเน้นรณรงค์ให้ประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย และเอาเปรียบด้านไหนบ้าง ต้องช่วยกันสร้างกระแสให้ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ

ต้องทำให้เป็นวาระของประชาชนที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของของประเทศอย่างแท้จริง เพราะต้องพูดคุยกันเรื่องปัญหาปากท้อง และรัฐธรรมนูญ เชื่อว่ามันต้องเกิดขึ้นได้และคงไม่นานนัก

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

หัวหน้าพรรคสามัญชน

แก้รธน.กับการมีส่วนร่วมนอกสภา

การฉีกรัฐธรรมนูญโดยอำนาจการรัฐประหารไม่แน่ใจว่าจะดีหรือใครจะได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง แต่มันมองไม่เห็นปัญหาปากท้องประชาชน และไม่มีกฎไหนที่สร้างจิตสำนึกให้รัฐบาลแก้ปัญหาภัยแล้ง มีแต่ปัญหาภัยความมั่นคงอยู่ในหัวว่าใครด่า ใครโจมตีรัฐบาลบ้าง รัฐธรรมนูญกับภัยแล้งนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะในรัฐธรรมนูญมีการกำกับหน้าที่รัฐที่ต้องแก้ปัญหาภัยแล้งไว้อยู่ รัฐธรรมนูญเหมือนตำราโหร อ่านแล้วพอจะทำนายได้ว่าบ้านเมืองจะเกิดอาเพศขนาดไหน

อย่างองค์กรอิสระที่ตั้งมาเพื่อตรวจสอบรัฐบาล แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับสร้างองค์กรอิสระมาเพื่อปกป้องรัฐบาล และการตั้งพรรคการเมืองที่ใครอยากมีพรรคการเมืองต้องมีเงินนายทุนเยอะๆ แต่ไม่ได้อิงประชาชน วันนี้ชนชั้นกลางเป็นทาสรับใช้ศักดินา ไม่สร้างนวัตกรรมอะไร คอยรับใช้อำนาจเพื่อได้เลื่อนขั้นเท่านั้น และเป็นพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์ของฝ่ายขวา

ส่วนการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข ถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ และยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายการเลือกตั้งส.ส. เป็นส่วนที่แย่ ถ้าจะยกเลิกต้องยกเลิกทั้งหมด

ส่วนส.ว.นั้นทำให้นานาประเทศวิจารณ์ว่าไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯรอบสองถือเป็นนายกฯคนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้ง

เรากำลังสู่ยุคที่ 3 แม้กลไกการแก้รัฐธรรมนูญยาก แต่จะทำให้คนนอกสภาไม่พอใจ การแก้ยากอาจจะเป็นเหมือนศักยภาพของรัฐบาลประยุทธ์ 2 แต่อีกด้านถือเป็นภาวะอุดตันที่รอการระเบิด

กระบวนการประชาชนมีการตั้งคำถามมากมายที่จะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาหลายประการที่ประชาชนประสบเจอเองจึงอยากแก้รัฐธรรมนูญ มันมีความรุ่มร้อนกันอยู่แล้ว แม้จะมีอุปสรรคแค่ไหนแต่จะมีช่องทางไปเอง

จงเป็นหนึ่งเดียวกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ แล้วจะเห็นกระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเอง

นุชนารถ แท่นทอง

เครือข่ายสลัมสี่ภาค

แก้รธน.กับการมีส่วนร่วมนอกสภา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนมาเพื่อลิดรอนชนชั้นกรรมกร ประชาชน คนชายขอบ เราจะเห็นว่าที่ดินตอนนี้ถูกมองเป็นสินค้า รวมทั้งการขอคืนที่ดิน แล้วรัฐเอาไปประเคนให้นายทุน เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ไม่รู้ว่าพิเศษสำหรับใคร

จึงควรฉีกรัฐธรรมนูญ ไปเลย ไม่เช่นนั้นเราจะอยู่ในวังวนแบบเดิม

วันนี้คนจนถูกมองว่าไม่เสียภาษี แล้วมาตราหน้าว่าชอบร้องขอ แต่ท่านต่างหากที่เอามาประเคนให้เราจนเกิดการแตกแยกกันเอง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้สิทธิชุมชนก็ถูกตัดหายไป มีคนมาคอยสอดส่อง จึงควรฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วมาร่วมร่างไปพร้อมกัน

เราต้องลดความขัดแย้งในชุมชนก่อน และจัดการศึกษา รวบรวมกรณีปัญหา ต่างคนต่างสู้ต่างคนต่างคิดมันไม่ได้ถูกนำมารวมกัน จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เราต้องลดทิฐิของตนเองก่อนแล้วมาทำงานร่วมกัน

ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการไปสนับสนุนขบวนที่อยู่ในสภา อีกทั้งเราต้องมีผู้นำที่จะสามารถทำให้ประชาชนเลิกกลัวปืนหรือผู้ไม่หวังดี

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

เลขาธิการพรรคประชาชาติ

แก้รธน.กับการมีส่วนร่วมนอกสภา

เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเราจำเป็นต้องกระจายอำนาจ ความสุขให้ประชาชน การปกครองประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงอำนาจกับตำแหน่ง มองว่าอำนาจไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นนายกฯก็ไม่มีอำนาจ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ถ้าไม่มีตำแหน่งก็ไม่มีอำนาจและไม่สามารถทำให้ 30,000 คะแนน ชนะ 70,000 คะแนนได้

เรามีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีเพียงฉบับเดียวที่เป็นของประชาชน ต้องยอมรับไทยยังมีระบบอุปถัมภ์ซึ่งเป็นระบบที่ต้องทดแทนกัน

อีกทั้งมองว่าคนที่จะเป็นผู้นำต้องก้าวพ้นตนเอง แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำมาเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ต้องยอมรับร่วมกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ต้องมาดูว่าอะไรที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข

กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมี 5 ประการ คือ 1.ต้องคำนึงถึงสิทธิ์ ให้ประชาชนมีการดำรงชีวิตดี 2.ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน 3.มีความเสมอภาค ทุกวันนี้มีการกู้เงินมาเพื่อให้เงินเดือนข้าราชการและซื้ออาวุธอะไรไม่รู้ แล้วการรักษาพยาบาลไม่มีให้พอ 4.ต้องให้ศักดิ์ศรีคนที่เห็นต่าง และ 5.ความยุติธรรม

ไทยปล่อยให้การร่างกฎหมายเป็นของคนกลุ่มหนึ่งที่ไปรับใช้ผู้มีอำนาจ คนกลุ่มนั้นจะทำให้กลุ่มคนของตัวเองมีความสุขแล้วให้ประชาชนไม่มีความสุข

ในส่วนของฝ่ายค้านมองว่าการแก้ปัญหาแบบเผด็จการนั้นไม่ได้แล้ว ต้องแก้ปัญหาในแบบฉบับประชาธิปไตย และการจะแก้รัฐธรรมนูญต้องแก้ทั้งฉบับ และต้องแก้ที่มาส.ว.ด้วย ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะทำให้คนรวยคนจนอยู่ร่วมกันได้ โดยการแก้ในรูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

อยากให้นักการเมืองมีสัจจะ การไปหาเสียงเป็นสัญญาประชาคมไปแล้ว มีคนพูดกับตนว่ารัฐบาลชุดนี้ เช่นการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ แม้ลาออกต้องติดคุก เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นตัวแทนใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน

ตนได้ไปอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และได้รับรู้ว่าคนภาคใต้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการแจกรัฐธรรมนูญให้ไปอ่าน แล้วมีเรื่องย่อยเกี่ยวกับศาสนา และผลกระทบเรื่องการศึกษา ซึ่งมุสลิมให้ความสำคัญมาก

ส่วนเรื่องเกษตรกร ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนจะลอยแพเกษตรกร ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปต้องคืนสิทธิให้ประชาชน

พรรคฝ่ายค้านจะมีตัวตนในการแก้รัฐธรรมนูญ จะมีแคมเปญของทั้ง 7 พรรค เราจะแก้ปัญหาของประเทศไทยได้ เพราะตอนนี้เหมือนมีรัฐซ้อนรัฐอยู่ ถ้าเอาปัญหาไปเล่าให้ประชาชนฟังเขาคงรับไม่ได้

เรามาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่แบบไม่ต้องใช้เงิน ช่วยกันทำอย่างไรก็ได้ที่ให้คนเล็กคนน้อยเข้าถึงโครงสร้าง เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อไหร่ที่มีการปฏิรูปที่ดินทีไรที่ดินหายทุกที

เราต้องมาร่วมกันตื่นรู้ ต้องมาประกาศร่วมกันว่าใครที่ไม่ยืนข้างประชาชนก็จะอยู่ไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน