ปรับตัว-ปรับดอกเบี้ย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ปรับตัว-ปรับดอกเบี้ย : บทบรรณาธิการ – ในที่สุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี จากครั้งก่อนเมื่อเดือนเมษายน 2558 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

เป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไม่มากนักคือร้อยละ 0.25 ทำให้อัตราร้อยละ 1.75 เหลือเป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี

การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นหลังจากค่าเงินหยวนของจีนลดลง ขณะที่สหรัฐอเมริกายืนกรานจะเริ่มขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน แม้จะมีการเจรจาต่อรองกันอยู่

สงครามการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เป็นสถานการณ์วูบวาบ ผ่อนคลายสลับตึงเครียด ทำให้นานาประเทศต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

เบื้องหลังมติการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ดังกล่าว มีรายงานว่าเสียงส่วนน้อยเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่นโยบายการเงิน อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว อาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนัก รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต

แต่เสียงส่วนใหญ่พิจารณาปัจจัยต่างๆ แล้วเห็นว่าควรปรับ ไม่ว่าภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้า ปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น

การส่งออกจากเดิมประเมินว่าขยายตัวได้ 0% ระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่านี้อีก ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน มีแต่ลดลง

ส่วนที่สูงขึ้นกลับเป็นหนี้ครัวเรือน

ด้วยสถานการณ์นี้ หน่วยงานรัฐน่าจะประเมินความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร และแรงงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ได้ว่าจะเป็นอย่างไร

รัฐบาลระบุว่าการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและครม.พิจารณาวันที่ 19-20 ส.ค.

แต่ช่วงเวลารอการประชุมนี้ควรเร่งอธิบายกับประชาชนว่าสถานการณ์ขณะนี้จะต้องเจอกับอะไร และต้องปรับตัวอย่างไร

เพราะการปรับตัวของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าการปรับดอกเบี้ย

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน