กองทัพกับประชาธิปไตย : บทบรรณาธิการ

คําให้สัมภาษณ์ของผบ.ทบ.กับสำนักข่าว ต่างประเทศนั้นชัดเจนมากในเรื่องที่กองทัพจะไม่รัฐประหารอีก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ล้ำข้ามเส้น

แต่หลักประกันนี้มีข้อจำกัดว่า ตราบใดที่ผบ.ทบ.ยังเป็นบุคคลปัจจุบัน

แม้ว่าคำประกาศของบุคคลระดับนี้ย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าบุคคลต้องเป็นที่ระบบและกฎหมาย ซึ่งจะไม่เอื้อต่อการกระทำที่ทำลายประชาธิปไตย

เนื่องจากบุคคลนั้นเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่ง แต่ระบบและกฎหมายมาจากการจัดการร่วมกัน และเป็นกติการ่วมกัน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงยังคงจำเป็นและสำคัญ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในหลักประกันที่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย มากกว่าตัวบุคคล หรือคณะบุคคล

การเข้าแทรกแซงการเมืองของกองทัพที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ยังคงเป็นประเด็นการถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ในรัฐสภาไปถึงเพิงสนทนาของประชาชนทั่วไป ยังคงมีการพูดถึงความจำเป็น ของการรัฐประหาร และการสร้างคุณงามความดีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ทำให้ประเทศมาอยู่ ณ จุดนี้

แต่ ณ จุดนี้ ก็ยังเป็นเรื่องที่ผู้คนมองต่างกันว่า เดินหน้า หยุดอยู่กับที่ หรือถอยหลัง

เพราะโอกาสที่ประชาชนจะได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยความอดกลั้น เลือกตั้งใหม่เมื่อการเมืองถึงทางตัน และเคารพเสียงส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตยนั้นขาดหายมา 5 ปีแล้ว

ณ วันนี้ รัฐสภามีวุฒิสมาชิก 250 คน ที่มีบทบาทเลือกนายกรัฐมนตรี และปฏิรูปประเทศ ทั้งที่เป็นคณะบุคคลซึ่งมีที่มาไม่เกี่ยวโยงกับประชาชน

ความเสี่ยงจากการให้คณะบุคคลที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนมามีบทบาทสำคัญในการกำหนดเส้นทางของประเทศคือการสานต่อความขัดแย้ง ความคับข้องใจ และการไม่ยอมรับกติกา

เพราะความคิดของคณะบุคคลกับของประชาชนส่วนใหญ่นั้นไม่ตรงกันเสมอไป

หากนับเฉพาะเรื่องที่ผบ.ทบ.เปรียบเทียบแนวทาง การต่อสู้ด้านการโฆษณาชวนเชื่อทางอินเตอร์เน็ต กับการต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ก็เป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ

ศัตรูที่ถูกระบุว่าใช้ “ข่าวปลอม” เพื่อทำให้คนไทยวัยหนุ่มสาวหันมาต่อต้านทหารและสถาบัน เป็นภัยคุกคามจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ก็ยังไม่ชัดเจน

เพียงแต่ขอให้กองทัพยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย การต่อสู้นี้จะไม่ยากเย็นเลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน