คอลัมน์ ออกจากกรอบ : ฮักเชิล คิม

หนังสือพิมพ์ข่าวสด

หลายคนอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรืออยากมีความสุขมากขึ้น จึงลองพยายามทำสิ่งใหม่ๆ พาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ แต่นั้นก็ไม่ได้การันตีว่า ผลลัพธ์จะเป็นไปตามหวัง เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายนอก แต่การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากการค้นพบตัวตนของเราก่อนเป็นอันดับแรก

ย้อนนึกไปถึงตอนที่ไมเคิล ฟาราเดย์ ค้นพบการขยับของขดลวด กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นเครื่องปั่นไฟ หรือ “ไดนาโม” ต้นแบบของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปัจจุบัน หรือ การล่องเรือออกไป จนค้นพบทวีปใหม่ ซึ่งต่อมาคือ ทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ทำให้แผนที่โลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และช่วยไขความกระจ่างให้กับผู้คนในยุคสมัยนั้น ซึ่งเชื่อมาตลอดว่า โลกเรียบแบน เช่นเดียวกันชีวิตคนเราก็จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าการค้นพบเกิดขึ้น จึงจะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่การค้นพบ ที่ว่านี้คืออะไร?

มีนักปราชญ์ชาวกรีกสมัยก่อนคริสตกาล ชื่อว่า โสเครติส เขามักจะกล่าวกับลูกศิษย์ของเขาว่า…จงรู้จักตัวเอง ว่าเป็นคนที่ไม่รู้จักอะไรเลย

เป็นที่รู้กันดีว่า โสเครติส ถูกยกย่องในเรื่องความฉลาดปราดเปรื่อง หลักปรัชญาอันคมคายของเขาไม่เพียงแต่ทำให้มีผู้คนมากมายเข้ามารวมสนทนาด้วยจนหลายคนฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และถึงขนาดที่มีชาวกรีกมาคุกเข่าขอร้องให้เขาไปเป็นผู้ปกครองประเทศแทนกลุ่มนักการเมือง

แต่ โสเครติสกลับปฏิเสธ พร้อมให้เหตุผลกับคนเหล่านั้นว่า เขามีสิ่งที่ ‘รู้มากกว่าคนอื่น’ เพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ การรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย และเป็นคนโง่มากที่สุดในโลกนี้

ความคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่รู้จักอะไรเลย ปลูกฝังโสเครติสให้เป็นคนที่ชื่นชอบการออกไปนั่งสนทนา ซักถาม และโต้ตอบเรื่องต่างๆ กับผู้อื่น เพราะการสนทนาทำให้ความจริงหรือสติปัญญาของคนๆ หนึ่งได้แสดงออกมา จากที่คิดว่าคำตอบจะต้องเป็น A หรือ B หรือ C เสมอ แต่เมื่อได้พูดคุยเรื่อยๆ คำตอบ D ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนอาจโผล่มา และกลายเป็นสติปัญญาใหม่ๆ ได้

มีข้อแตกต่างที่ส่งผลไม่น้อยเลย ระหว่างคนที่รู้จักและไม่รู้จักตัวเอง ลองคิดดูว่า ถ้าหากคนเรามีความสามารถอยู่ที่ระดับ 100 เมื่อลองให้ประเมินตัวเองดู จะมีคนบางคนให้คะแนนตัวเองสูงถึง 150 หรือ 200 คนที่ประเมินตัวเองสูงจะคิดว่าตัวเองโดดเด่นกว่าคนอื่น ทำให้รู้สึกเหมือนโดนดูถูกจากคนรอบข้าง ในใจก็จะเต็มไปด้วยความหงุดหงิดไม่พอใจ คนแบบนี้ยิ่งใช้ชีวิตไปจะยิ่งเหนื่อย

ในทางกลับกัน คนที่ให้ตัวเองได้ 50 คะแนน คือยอมลดคะแนนลงจากความเป็นจริง จะรู้สึกดีกับคนรอบข้าง เพราะเมื่อใดที่ได้รับคำยกย่องแม้เพียงนิดเดียว เขาจะรู้สึกว่ามันมากเกินไปสำหรับตัวเอง และไม่ว่าจะทำอะไรก็จะรู้สึกขอบคุณกับทุกสิ่ง

ยิ่งให้คะแนนกับตัวเองน้อยมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งรู้สึกดีกับชีวิตมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้ชีวิตของเราไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะพยายามมามากเท่าไหร่ เป็นเพราะเรายังมีความหวังกับตัวเอง คิดว่าดีกว่าคนอื่น แต่ในตอนที่เราค้นพบว่าแท้ที่จริงแล้ว เราไม่รู้จักอะไรเลย เราจะเริ่มไม่ไว้ใจกับตัวเอง เริ่มฉุกคิดว่าสิ่งที่เรารู้หรือความคิดที่เรามีนั้นผิด แล้วจะสามารถออกไปพูดคุย ฟังเสียง และรับจิตใจจากผู้อื่น มาเป็นพลังเปลี่ยนแปลงชีวิตแบบเดิมๆ ของเราครับ


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
FB : Mind World by Kim Hak Cheol, Ph.D.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน