แจกเงินได้ผลหรือ : บทบรรณาธิการ

แจกเงินได้ผลหรือมาตรการทุ่มเงินถึง 3 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2562 จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 ส.ค. น่าจะปลุกกระแสชื่นมื่นของประชาชนได้

แต่กลับเกิดคำถามว่า มาตรการต่างๆ ที่ใช้เงินมูลค่าสูงนี้จะช่วยพลิกฟื้นหรือทำให้เศรษฐกิจตื่นตัวขึ้นจริงหรือไม่

คำถามดังกล่าวน่าจะสะสมมาจากการเฝ้าสังเกตและประเมินผลมาตรการประชารัฐตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ผ่านการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน เงินขวัญถุงปีใหม่เงินข้าราชการบำนาญ ฯลฯ แต่เศรษฐกิจกลับยังซึมลึก

ด้วยเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีชี้ว่ามาจากเศรษฐกิจโลก รวมถึงสงคราม การค้า

การรับมือครั้งใหม่นี้ ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี จำนวนเงินรวมทั้งหมด 316,000 ล้านบาท มุ่งกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจปี 2562 ขยายตัว ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3

เฉพาะส่วนที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ระบุว่า ธ.ก.ส.มีวงเงินปล่อยกู้ทั้งหมด 50,000 ล้านบาท และปล่อยกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท

แต่มาตรการดังกล่าวแก้ปัญหาได้เพียงเฉพาะหน้าและปลายเหตุ ส่วนต้นตอปัญหากระดุม 5 เม็ดของเกษตรกรที่ส.ส.ฝ่ายค้านนำเสนอและมีบุคคล ในรัฐบาลเห็นด้วย ยังคงค้างอยู่ที่เม็ดแรก

ด้านมาตรการที่เป็นประเด็นตั้งคำถามมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านโครงการชิมช็อปใช้ แจกเงินผ่าน จี-วอลเล็ต คนละ 1,000 บาท ให้ใช้จ่ายท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่

ข้อสงสัยนี้เกิดขึ้นแม้แต่คนในธุรกิจการท่องเที่ยวว่า จะกระจายถึงกลุ่มรากหญ้าได้จริงหรือ และท้ายที่สุดแล้ว เงินจากการท่องเที่ยวเหล่านี้จะลงไปที่โรงแรม ร้านอาหาร หรือร้านขายของฝาก รายใหญ่หรือไม่

มีข้อนำเสนอว่า หากนำงบกระตุ้นการท่องเที่ยวไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพัฒนากลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับดีให้มาใช้เงิน จะดีกว่าหรือไม่

ดีกว่าการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน