หนี้เกษตรกร

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หนี้เกษตรกร : บทบรรณาธิการ- นับจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้านบาท ข้อกังขาและความสงสัยถึงผลลัพธ์ของมาตรการนี้ยังคงเป็นที่พูดถึงทั้งในสภาและตามวงสนทนาทั่วไป

คดีโศกนาฏกรรมที่สามีภรรยาที่จังหวัดชลบุรีตัดสินใจจบชีวิตด้วยกัน รวมถึงอีกหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน มีต้นตอจากเรื่องหนี้สินที่น่าสลดใจ

โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร นอกจากเผชิญกับเรื่องหนี้สินแล้วยังเผชิญภัยแล้งที่ส่งผล กระทบรุนแรงทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ มีตัวเลขและภาพรวมสรุปที่สะท้อนสภาพการณ์ดังกล่าว

โดยเฉพาะการระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลจะประกันรายได้ให้กับเกษตรกรในระดับราคาที่สูงมาก จะไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเกษตรกรไม่มีสินค้าจำหน่าย

ข้อสรุปดังกล่าวประเมินว่า ภัยแล้งที่รุนแรงในปี 2562 จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก

แม้มีการประกันรายได้ เกษตรกรจะไม่ได้มีส่วนได้เสีย เพราะรายได้ไม่มีเพียงพอจะชำระ หนี้สินที่มีอยู่

จากการสำรวจภาพรวมเงินการให้สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรกู้ยืม พบว่า มีทั้งสิ้น 175,063.68 ล้านบาท ส่วนใหญ่ราว 125,011.84 ล้านบาท เป็นหนี้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร

ขณะที่หนี้เอ็นพีแอล หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าหนี้เน่า มีสูงถึง 41,618.17 ล้านบาท

แยกเป็นหนี้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร 38,574.28 ล้านบาท สมาชิกสหกรณ์ ประมง 155.89 ล้านบาท สมาชิกนิคมสหกรณ์ 2,266.57 ล้านบาท และสมาชิกกลุ่มเกษตรกร 40,996.74 ล้านบาท

สาเหตุที่ทำให้หนี้เกษตรกรเป็นหนี้เอ็นพีแอล กรมส่งเสริมสหกรณ์ระบุว่า เนื่องจากดินฟ้าอากาศ ราคาผลผลิตผันผวน ตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ขึ้นอยู่กับรายได้จากการขยายผลผลิต และพฤติกรรมการใช้จ่ายของสมาชิก

ส่วนหนึ่งในแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ดังกล่าวที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ระบุว่าต้องทำอันดับแรกคือ ต้องหาแหล่งน้ำก่อน เพราะเป็นพื้นฐานการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นขุดบ่อบาดาล สระน้ำขนาดเล็ก และสร้างอาชีพ

เพื่อให้เกษตรกรสร้างรายได้เพียงพอจะชำระหนี้ดังกล่าวได้ และเพียงพอจะชำระหนี้อื่นๆ ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน