FootNote:กรณียุบพรรคประชาชนปฏิรูป เผือกร้อนอภินิหารกฎหมาย

กรณีการยุบพรรคประชาชนปฏิรูปแล้วผันตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐ ที่ทำท่าว่าจะเป็นเรื่องง่าย ดำเนินไปด้วยความราบรื่นเหมือนยืนอยู่บนเนินเขา

เริ่มมองเห็นเค้าลางแล้วว่าอาจไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากเสียแล้ว

จึงไม่เพียงแต่ตัว นายไพบูลย์ นิติตะวัน เริ่มสะดุด

หากแม้กระทั่ง นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ก็ปรับเปลี่ยนท่าทีเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

เพราะกรณีพรรคประชาชนปฏิรูปดูเหมือนจะใช้”อภินิหาร”ในทางกฎหมายเหมือนที่เคยแสดงมาก่อนหน้านี้ไม่ได้อีกแล้ว

ในที่สุดก็อาจติดกับ”กับ”ที่ดักเอาไว้ด้วยตนเอง

หากย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย

เห็นได้หลังการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544

เริ่มจากพรรคเสรีธรรมของ นายพินิจ จารุสมบัติ ตามด้วย พรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตามด้วยพรรค ชาติพัฒนาของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

ล้วนเรียบร้อยโรงเรียนพรรคไทยรักไทยอย่างเบ็ดเสร็จ

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ว่าพรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองอันอนุวัติตามรัฐธรรมนูญ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้เกิดบทเรียนแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

การย้ายพรรคจึงมีได้ 2 กรณีเท่านั้น 1 ถูกขับออกจากพรรค และ 1 พรรคการเมืองนั้นถูกยุบเพราะไปกระทำความผิดร้ายแรง

จำเป็นต้องเลือกเอาระหว่าง 2 กรณีนี้

ขณะเดียวกัน กับที่วางเอาไว้ในเรื่องสูตรการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันอวยประโยชน์ให้กับ 11 พรรคเล็กก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งมากด้วยความซับซ้อน

เป็นความซับซ้อนจาก”อภินิหาร”และกายกรรมทางกฎหมาย

แม้ว่าจะมีความคึกคักเป็นอย่างมากจากสำนักงานกกต.ผลักดันข้อเสนออันมาจากพรรคประชาชนปฏิรูปด้วยความฉับไวอย่างเป็นพิเศษ

แต่ไม่แน่ว่าทางด้านของคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเด้งรับด้วยความคึกคักไปด้วยหรือไม่

เพราะเรื่องนี้มีสภาพเป็น”เผือกร้อน”อย่างเด่นชัด เด่นชัดยิ่ง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน