มาตรฐานกฎหมาย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

มาตรฐานกฎหมาย – กรณีการประกาศยุบพรรคประชาชนปฏิรูป แล้วย้ายตัวเองเข้าไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ยังเป็นหัวข้อถกเถียงทั้งในแวดวงนักกฎหมายและ ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วไป

มิใช่เพียงเพราะว่า กรณีดังกล่าวอาจจะส่ง “นัยยะ” บางประการทางการเมือง โดยเฉพาะการยุบตัวเองของพรรคเล็ก เพื่อเข้าไปเพิ่ม จำนวนส.ส.ให้พรรคใหญ่เท่านั้น

แต่ยังมีแง่มุมและหลักการทางกฎหมายที่ยังมีความเห็นต่างไปชนิดสุดขั้ว

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติให้พรรคประชาชนปฏิรูปทำเช่นนั้นได้

โดยไม่สนใจข้อท้วงติงโต้แย้งใดๆ

กกต.ระบุว่าข้อทักท้วงในเรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือทางกฎหมายก็ตามที ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น และไม่มีผู้ร้องเข้ามา จึงไม่หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นพิจารณา

เหตุผลเช่นนี้ใช้ได้ – ฟังขึ้นหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปประกอบเข้ากับท่าทีและจุดยืนที่ผ่านมาของกกต.เอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความทุลักทุเล วิธีการคำนวณส.ส.ที่ตรงข้ามกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป จนกระทั่งสามารถ “ปัดเศษ” ให้ผู้ที่ไม่ควรจะเป็นส.ส.เข้ามานั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรได้

แล้วจะให้คนทั่วไปเข้าใจเช่นไร

การบังคับใช้กฎหมายที่หามาตรฐานมิได้ หรือดำเนินไปแบบ “สองมาตรฐาน” เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายหนึ่ง และกดศีรษะของอีกฝ่ายหนึ่งเอาไว้ในแทบทุกกรณี

คือต้นตอปัญหาประการหนึ่งของความแตกร้าวในสังคมไทยช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

หากผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่ตระหนักสำนึก บาดแผลและความร้าวฉานในสังคมไทยก็ยังคงแบะกว้างอยู่ต่อไป ไม่เกิดความสงบสุขขึ้นมาได้

ไม่ว่าจะเป็น กกต. หรือหน่วยงานใดก็ตามที หากไม่เข้าใจไม่ยอมรับในความเป็นจริงข้อนี้ และยังจะตะแบงการใช้กฎหมายอย่างไร้มาตรฐาน

หน่วยงานนั้นย่อมเป็นตราบาปของสังคมไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน