หนี้ครัวเรือนใกล้วิกฤต

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หนี้ครัวเรือนใกล้วิกฤต : สถานการณ์หนี้ครัวเรือนปีนี้ เป็นเรื่องที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แจ้งว่าจับตาดูอย่างใกล้ชิด

เมื่อตัวเลขล่าสุดในไตรมาสแรกปี 2562 พบว่ายังคงเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560

ปัจจุบันมีมูลค่ารวมถึง 12.97 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.7 ต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ หรือจีดีพี

เรียกว่าเข้าใกล้ภาวะวิกฤต ร้อยละ 80 ต่อ จีดีพีแล้ว

ครั้งนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ ถึงกับระบุว่า เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เพราะสัดส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว

ปัจจุบันตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยติดอยู่ในอันดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศเกาหลีใต้

แม้ว่าไทยไม่ได้มีศึกการค้าเหมือนเกาหลีใต้ ที่ตึงเครียดกับญี่ปุ่น แต่ด้วยผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจจีนสหรัฐอเมริกา นับว่าใหญ่มากสำหรับประเทศไทยแล้ว

สิ่งสำคัญเมื่อรายรับหายไป ก็คือความพยายามที่จะตรึงรายจ่ายให้สมดุล และลดความตึงเครียดจากภาวะหนี้ลง

แม้รัฐบาลมีมาตรการแจกเงินที่อัดฉีดเข้าไป ในตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภคให้สูงขึ้น แต่ก็อาจไม่ช่วยป้องกันโศกนาฏ กรรมที่ผู้คนฆ่าตัวตายเพราะเครียดเรื่องหนี้ในสถานการณ์นี้

จากตัวเลขล่าสุดของสศช. ยอดคงค้างบัตรเครดิตไตรมาส 2 ของปี 2562 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 8.8 เป็นร้อยละ 9.7

ด้านยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล เพื่อการอุปโภคบริโภคช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเฉพาะเอ็นพีแอลของรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 และบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5

ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การ กำกับยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 7,322 ล้านบาท

กรณีดังกล่าว สศช. ระบุว่ากำลังจับตาอย่างใกล้ชิด ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาสำหรับการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน