หลังความกระจ่าง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หลังความกระจ่าง : งานสำคัญต่อเนื่องจากความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนคดี บิลลี่ นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอยโป่งลึก ที่หายตัวไปอย่างลึกลับตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เม..2557 กระทั่งพบว่าถูกเผาทำลายศพ และดีเอสไอตั้งการสอบสวนเป็นคดีฆาตกรรมนั้น คือการทำคดีที่เริ่มกระจ่างให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น

แถลงการณ์ของเครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเล ตอกย้ำว่า รัฐต้องเร่งหาผู้อยู่เบื้องหลังเหตุฆาตกรรมมาลงโทษ สร้างสวัสดิภาพและคุ้มครองครอบครัวของบิลลี่อย่างเป็นรูปธรรม

เช่นเดียวกับแถลงการณ์ขององค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่เรียกร้องให้นำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ค้นหาข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมครั้งนี้คือใคร และต้องนำบุคคลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล

ภารกิจที่รัฐต้องทำจากนี้ไปแบ่งเป็นสองเรื่องหลัก คือเรื่องของคนตาย และเรื่องของชาวบ้านชาติพันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่

เพราะเหตุที่เกิดในป่าแก่งกระจานไม่เพียงอยู่ในความสนใจของคนในประเทศ ยังเป็นเงื่อนไขในประเด็นต่างประเทศ เกี่ยวโยงทั้งการยื่นขอให้ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และเชื่อมตรงต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับชาวบ้านที่ยังอยู่ มีข้อเรียกร้องจากเครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลในประเทศไทย ผลักดันมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ..2553 และวันที่ 2 มิ..2553 ให้มีผลในเชิงปฏิบัติเพื่อปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

ยึดตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดกรณีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบ้านใจแผ่นดินบางกลอยบน จากการที่บิลลี่ต่อสู้จนได้รับชัยชนะในคดีศาลปกครองสูงสุด เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่

ส่วนคดีการตายของบิลลี่ จากการแถลงผลการสอบสวนของดีเอสไอ พฤติการณ์ของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมาน

และการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ

เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน

ดังนั้นเรื่องนี้ผู้ละเมิดจะต้องถูกดำเนินคดีและรับบทลงโทษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน