FootNote:ประชาธิปัตย์กับรัฐธรรมนูญ ก้าวย่างประชาธิปไตยสุจริต

จังหวะก้าวที่พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอญัตติด่วนเรื่องให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือได้ว่าเป็นไฟท์บังคับ

เพราะว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์กำหนดในการร่วมรัฐบาล

และเมื่อรัฐบาลกำหนดให้เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนก็ไม่มีหนทางอื่นให้เดินนอกจากจะต้องเริ่มต้นจากการตั้งคณะกรรมาธิการ

นี่มิได้เป็นไฟท์บังคับต่อพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นไฟท์บังคับต่อรัฐบาล ต่อทุกพรรคการเมืองที่ร่วมขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่มีหนทางอื่นให้เดินนอกจากทางสายนี้

ความน่าตื่นเต้นจึงมิได้อยู่ที่เมื่อมีการบรรจุญัตตินี้เข้าสู่ระเบียบวาระ การอภิปรายของ ส.ส.แต่ละคนไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองอื่นจะเป็นอย่างไร

ต่อ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่มีอะไรน่าแคลงคลาง กังขา

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าพรรคเสรีรวมไทย ไม่ว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ไม่ว่าพรรคประชาชาติ ไม่ว่าพรรคเพื่อชาติ ไม่ว่าพรรคพลังปวงชนชาวไทย

มีความแจ่มชัด ไม่มีอะไรปิดบังอำพราง เป้าหมายต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

คำถามอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ว่าจะสามารถดำรงจุดมุ่งหมายในการปรับเปลี่ยน “ประชาธิปไตยทุจริต”ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญให้เป็น”ประชาธิปไตยสุจริต”ได้อย่างไร

คำถามอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ อยู่ที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งเคยชูความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านประชามติ มาด้วย 16 ล้านเสียง

แสงแห่งสปอตไลต์จึงฉายจับไปยัง 18 พรรคที่เคยขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างพร้อมเพรียงกัน

จากเดือนกรกฎาคม 2562 ไปยังเดือนกรกฎาคม 2563 จึงเป็นก้าวย่างอันน่าระทึกใจเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

มาพร้อมกับวาทกรรม เศรษฐกิจกับการเมือง

ขณะที่รัฐบาลเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เน้นเรื่องปากท้องและกดทับความเร่งด่วนของรัฐธรรมนูญ

นี่เป็นปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะต้องฝ่าฟัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน