บทบรรณาธิการ : แก้รธน.เริ่มต้นวิกฤต?

แก้รธน.เริ่มต้นวิกฤต? : คําเตือนจากวุฒิสมาชิก ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต่อสมาชิกพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ก็คือเรื่องนี้จะต้องทำประชามติ

พร้อมระบุว่า วิกฤตการเมืองหลายครั้งมีจุดเริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญ

เช่น ความพยายามของรัฐบาลยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปีพ..2550 แต่ทำไม่ได้

เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า หากจะทำ ต้องทำประชามติเสียก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการทำประชามติ

แม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิด ต่อเนื่องจากการรัฐประหารปี 2549 ก็ตาม

หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญพ..2560 ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 มีเงื่อนไขคล้ายกันตรงที่ว่า สุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติมาแล้ว

ดังนั้นหากจะแก้ไข ต้องทำประชามติก่อน

แม้ว่าลำพังตัวรัฐธรรมนูญจะเขียนขึ้นมาเพื่อให้แก้ไขได้ยากยิ่งอยู่แล้ว อย่างน้อยจะต้องแก้ไข มาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

แต่ถ้าแก้ไขมาตรา 256 เลย โดย ไม่ชี้แจงเหตุที่แก้ หรือไม่มีกรอบที่ชัดเจนไม่ได้ฟังความเห็นพ้องจากทุกฝ่าย ส..เชื่อว่า กรณีนี้จะไม่สำเร็จแน่นอน

ความยากง่ายของการเขียนและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วงเกิดรัฐประหารกับช่วงที่มีผู้แทนมาจากการเลือกตั้งนั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน

นี่อาจเป็นเหตุผลที่มีคนเข้าใจว่า วิกฤตการเมืองมักเกิดขึ้น เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ความจริงแล้ววิกฤตการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงที่มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการปะทะกันระหว่างความพยายามที่ จะเปลี่ยนแปลง กับความพยายามที่จะรั้งอำนาจไว้

หากมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น หรือเกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างสองฝ่าย ความคับข้องใจของประชาชนก็จะมีมากขึ้น

วิกฤตการเมืองมักเริ่มต้นจากตรงนั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน