ผู้ใหญ่ลงโทษเด็ก

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ผู้ใหญ่ลงโทษเด็ก – ช่วงระยะนี้ เรื่องราวครูลงโทษเด็กเกิดเป็นข้อพิพาทอย่างต่อเนื่อง เพราะวิธีการลงโทษส่วนใหญ่เป็นการใช้ความรุนแรง หรือใช้กำลังต่อเด็ก เป็นเหตุให้เด็กบาดเจ็บ

เหตุผลอาจจะมาจากเด็กไม่เชื่อฟัง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของครู เช่น ไม่ทำการบ้าน

เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองร้องเรียนหรือแจ้งความแล้ว ทำให้หลายกรณีลงเอยโดยครูขอโทษและรับผิด ซึ่งทำให้น่าคิดต่อว่า หากไม่มีการร้องเรียน หรือไม่มีข่าวปรากฏ เด็กจะต้องเผชิญกับความรุนแรงต่อไปหรือไม่ อย่างไร

จะเกิดการโต้แย้งหรือไม่ว่า ครูมีสิทธิที่จะตีเด็กเพื่อลงโทษในระดับใด

การใช้กำลัง หรือมาตรการบังคับอื่นๆ เพื่อลงโทษเด็ก สำหรับครูและพ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนคล้ายกัน ตรงที่เป็นการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ต่อเด็ก

ไม่ว่าจะด้วยความหวังดีหรือไม่เพียงใด เป็นเรื่องต้องทบทวนว่า มาตรการดังกล่าว มีความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจต่อเด็กหรือไม่

เพราะถ้าใช่ วิธีการดังกล่าวเสี่ยงต่อการถ่ายทอดอำนาจนิยมและการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาให้แก่เด็ก

เป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่า ผู้มีสถานะเหนือกว่า วัยวุฒิมากกว่า จะถืออภิสิทธิ์และเป็นฝ่ายกำหนดความถูกต้อง

แทนที่จะเป็นการใช้เหตุผล ให้เด็กเรียนรู้ความบกพร่อง และแก้ไขความผิดพลาดด้วยตนเอง

ประเด็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะนักเรียน กรณีนักศึกษาหญิง สถาบันราชภัฏในภาคอีสาน จัดแสดงภาพอุลตราแมนเชิงเปรียบเทียบเป็นพระพุทธรูปในนิทรรศการของห้างสรรพสินค้า เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็ก

แทนที่จะถกเถียงถึงการตีโจทย์พระธรรม พระพุทธรูป และอุลตราแมน ว่าเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่อย่างไร

การพานักศึกษาผู้วาดภาพไปคารวะกราบขอขมาพระ ราวกับเป็นจำเลยผู้กระทำผิดหมิ่นศาสนา กำลังเกิดคำถามขึ้นในสังคม เช่นกัน

ว่าการตัดสินและลงโทษโดยกลุ่มผู้ใหญ่เช่นนี้เกินไปหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน