FootNote:เมล็ดพันธุ์ในทางจริยธรรม บรรทัดฐาน‘ธรรมาภิบาล’

เด่นชัดมากยิ่งขึ้นว่า กรณี “เดอะซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์” กับกรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” จะทับรอยกันและกัน

นั่นก็คือ อยากจะจบ แต่ทำท่าว่าจะไม่จบ

นอกจากจะไม่จบตามความต้องการของเจ้าตัวแล้ว ยังส่อทีท่าว่าอาจจะบานปลาย

บานปลายกระทั่งนอกจากจะเป็นเรื่องประเภท”วัวพันหลัก” เป็นเรื่องประเภท”ขว้างงูไม่พ้นคอ”แล้ว ยังจะกลายเป็นเรื่องในแบบ “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ”

เพราะกรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน”จะพันไปยังมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ขณะที่กรณี”เดอะซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์”หนีไม่พ้นไปจากมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ

นี่คือเรื่องประเภท”ซีรีส์” มิใช่”เรื่องสั้น”จบในฉบับ

หากสังเกตเป้าหมายของกรณี ไม่ว่าในกรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” ไม่ว่าในกรณี”เดอะซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์”จะเห็นลักษณะร่วมบางประการ

ประการ 1 คือ ล้วนมีรากฐานมาจากการเป็นทหารและปฏิบัติในสิ่งที่แตกต่างไปจากลักษณะเฉพาะของทหาร

นั่นก็คือ ทหารส่วนมากพูดน้อย ทำมาก

แต่นี่ไม่ว่ากรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” ไม่ว่ากรณี”เดอะซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์” ล้วนเป็นทหารที่ชอบพูด

กลายเป็นว่า ยิ่งพูดยิ่งสร้าง”ประเด็น”

ขณะเดียวกัน ประการ 1 ทั้งกรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” ทั้งกรณี “เดอะซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์” ล้วนสามารถโยงสายยาวไปยังบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

หลักสุดท้ายก็คือ การปฏิบัติตาม”รัฐธรรมนูญ”ด้วยความเคารพและเชื่อมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งที่เป็นข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติแต่มิได้ปฏิบัติ

เรื่องนี้เป็นเรื่องต้อง”แก้ไข” มิใช่เป็นเรื่องต้อง”แก้ตัว”

ความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากมิได้อยู่ที่ว่าเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจในทางสากลเพราะเป็นเรื่องในทางจริยธรรม

ยิ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งทำให้เรื่องราวจำหลักอย่างหนักแน่นในสังคม

เมล็ดพันธุ์ที่งอกงามในวงแคบก็ขยายกลายเป็นวงกว้างอยู่ในความรับรู้ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน