1 ใน 99 ศพ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

1 ใน 99 ศพ – พัน คำกอง เป็นชาวยโสธรเข้ามาประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ หากวัดฐานะและสถานะทางสังคมแล้ว เป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่มิได้รับสิทธิพิเศษใดๆ ตั้งแต่ตอนมีชีวิตอยู่กระทั่งเสียชีวิต

นายพัน คำกอง เสียชีวิตในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ขณะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ถูกทางการสั่งใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

เหตุการณ์ครั้งนั้นลงเอยด้วยยอดผู้เสียชีวิตทั้งพลเรือนและเจ้าหน้าที่เกือบร้อยราย หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 99 ศพ

พัน คำกอง เป็นหนึ่งในนั้น ถูกสังหารช่วงเช้ามืดวันที่ 15 พ.ค.2553 ขณะยืนอยู่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียม ราชปรารภ บริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่อยู่ และระดมยิงใส่รถตู้คันหนึ่งที่ผ่านเข้าไป

นายพันถูกกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ไม่ได้เสียชีวิตในรถตู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่กราดยิง แต่ตายบนถนน

ภรรยาของนายพันพยายามทวงความเป็นธรรมมาตลอด 9 ปีนี้ แต่เมื่อไม่มีความคืบหน้า จึงยื่นฟ้องนายทหารยศพันเอกและพันโท 2 นายด้วยตนเอง

ข้อกล่าวหานายทหารทั้งสองคือร่วมกันฆ่า ผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 และ 84 ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 4 พ.ย.นี้

ปฏิกิริยาจากกองทัพบกในเบื้องต้นถึงกรณีนี้ เป็นคำโต้แย้งว่า การควบคุมพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ขณะนั้นไม่สามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การใช้อาวุธสงครามจากบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

หากแปลความตามนี้ หมายถึงเจ้าหน้าที่อาจไม่ใช่คนยิง และใครยิงก็ไม่ทราบได้

หากบ้านเมืองนี้ประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ถูกยิงตายกลางถนนโดยหาคนยิงไม่ได้ ย่อมจะเกิดคำถามว่ารัฐบาลและกองทัพดูแลสวัสดิภาพของประชาชนอย่างไร

เมื่อตัวแทนกองทัพระบุว่า การยื่นฟ้องต่อศาลเป็นสิทธิ์ที่ญาติผู้เสียชีวิตกระทำได้ แต่อยากให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในขณะนั้นด้วย

คำถามต่อเนื่องคือ หากเจ้าหน้าที่ได้รับความเห็นใจ แล้วใครควรเห็นใจผู้สูญเสีย

ใครต้องรับผิดชอบต่อการตายของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน