อย่ากลัวเสียงติ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

อย่ากลัวเสียงติ – งานสัมมนาบุคลากรภาครัฐที่มีข้าราชการทุกระดับเข้าร่วม และนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ หากตัดเรื่องการแสดงอารมณ์ออกไป เป็นงานที่ผู้นำประเทศแสดงความคิดเห็นด้านการบริหารงานหลายเรื่อง

ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ งบประมาณ และปฏิสัมพันธ์กับประชาชน

สรุปใจความได้ว่าต้องการให้ประชาชนร่วมมือกัน และลดการตำหนิติเตียน เพื่อให้งานปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติเดินหน้าต่อไป

แต่การกล่าวอ้างว่า การตำหนิติเตียนจะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่อยากทำงาน เมื่อทำแล้วหากโดนตำหนิเหมือนเดิม จะไม่ทำเสียดีกว่า เป็นการสรุปอย่างรวบรัดเกินไปและน่าวิตกสำหรับแนวคิดนี้

การติดตาม ตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

การสร้างทัศนคติให้ข้าราชการทำงานตามที่ประชาชนคาดหมาย มากกว่าเป็นนายของประชาชน เป็นกระบวนการสำคัญหนึ่งในการปรับการทำงานจากยุคเจ้าใหญ่นายโตสู่สังคมประชาธิปไตย

ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงนักการเมืองผู้แทนของประชาชน มีหน้าที่ทำงานอย่างเต็มกำลัง ไม่เลือกปฏิบัติ ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ และปฏิบัติต่อประชาชนทุกชนชั้นเชื้อชาติอย่างเท่าเทียม

อีกทั้งต้องรับฟังการประเมินผลของประชาชน ไม่หลีกเลี่ยงการทำงานด้วยข้ออ้างว่าต้องการหลีกเลี่ยงเสียงวิจารณ์

ภารกิจใดที่ยังติดขัดในภาคราชการและไม่สามารถแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนได้ เป็นเรื่องที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐยิ่งต้องฟังเสียงประชาชนเพื่อไปใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์หาทางออก

สิ่งที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐพึงตระหนักคือการทำงานเพื่อบ้านเมืองนั้นเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ ทันสถานการณ์ และตอบสนองประชาชน

การทำงานให้ประชาชนจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นบุญคุณ หรือคาดหมายว่าต้องได้รับคำชื่นชม แม้เสียงชื่นชมจากประชาชนอาจเป็นกำลังใจ แต่เสียงติเตียนก็เป็นตัวกระตุ้นสำหรับการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นแง่ดีในด้านหนึ่ง

ทั้งช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานระดับสูงไม่หลงในตำแหน่งหรือใช้อำนาจในทางที่ผิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน